"อ๊อฟ พงษ์พัฒน์" ภูมิใจได้ทำหนังเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว เผยทำหนังชาวนาเพราะหวั่นเป็นอาชีพที่จะหมดไปจากประเทศไทย รับทำเสียดสีรัฐบาลทุกชุดรับปากจะช่วยปัญหาชาวนา แต่ไม่เห็นทำอะไรยันยังทำหนังเสียดสีสังคม-การเมืองต่อ ไม่หวั่นภัยมืดหรือคนต่อต้าน

ถือเป็นนักแสดงและผู้กำกับมากฝีมือคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ตอนนี้ถูกยกให้เป็นฮีโร่ของเหล่าคนบันเทิงด้วยกัน หรือแม้แต่ประชาชนเกือบทั้งประเทศไปเรียบร้อย สำหรับ "อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง" ที่มักจะลุกขึ้นมาพูดปลุกใจคนไทยให้รักและเทิดทูนในหลวง ตอบแทนประเทศชาติของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีบางกลุ่มที่ไม่พอใจจนถึงกับขู่จะทำร้าย แต่เจ้าตัวก็ไม่หวั่นยังคงสร้างผลงานต่างๆ ประกาศถึงความจงรักภักดีอยู่ตลอด

โดยล่าสุด "อ๊อฟ" ได้มีโอกาสทำภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติเรื่อง "จากฟ้าสู่ดิน" ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2553 ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า ที่เลือกทำภาพยนตร์เกี่ยวกับชาวนา เพราะหวั่นเป็นอาชีพแรกที่จะหมดจากประเทศไทย เนื่องจากไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง

"เรื่องนี้เป็นเรื่องชาวนาครับ เพราะว่าชาวนาเราตัวเล็กๆ จนและไม่มีจะกิน ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันน่าสังเวชมาก ถ้าเกิดอาชีพที่ถูกเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ต้องเป็นอาชีพที่จะต้องล่มสลายเป็นอันดับแรก คือไม่อยากด่าคนนะ แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครสนใจดูแล มีอยู่แค่ท่านเดียวคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ความสำคัญและคิดมา 60 กว่าปีแล้วนะ ที่พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อที่จะดูแลชาวนาของเรา รัฐบาลทุกยุคไม่เคยใส่ใจ มีแต่ปากที่พูดว่าจะดูแล แต่สุดท้ายจริงๆ มันไม่ได้อะไรเลย"

"เมื่อกี้ผมก็ยังบอกบนเวทีว่า ไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่ชาวนาไม่ออกถนนมาประท้วง ก็ออกมาประท้วงทุกครั้งแหละ พอหาเสียงครั้งนึงก็ออกมาบอกว่า จะดูแลชาวนาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอถึงเวลาก็ออกมาประท้วงทุกครั้ง ไม่เห็นมียุคไหนที่ชาวนาไทยไม่ออกมาประท้วง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารู้สึกคือเราห่วงอาชีพนี้ ถ้าชาวนาทิ้งนาอย่างในหนังเรื่องนี้อะไรจะเกิดขึ้น มันจะมีนายทุนมากว้านซื้อที่ และอีกหน่อยที่นาแปลงนี้มันอาจจะไม่ใช่ของคนไทยก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นความโชคดีของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ แรงบันดาลใจที่ได้จากบทเพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อเพลง "ยิ้มสู้" ทำให้คนที่ท้อชีวิตลองกลับมาสู้ชีวิตอีกครั้งนึง ชาวนาที่ทิ้งนาแล้วกลับเดินเข้ามาในแปลงนา และตั้งใจปลูกข้าวและทำนาอีกครั้งนึง มันก็เป็นความโชคดี แต่ถ้าโชคไม่ดีล่ะถ้านาแปลงนั้นถูกขายไปจะเป็นยังไง อันนี้มันก็เป็นเรื่องของอนาคตชาติเหมือนกัน"

"แต่งานชิ้นนี้ด้วยความที่มันเป็นสเกลเล็ก เป็นงานที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรก็เลยทำออกมาใช้เวลาไม่นาน และกระทรวงมหาดไทยติดต่อมา ซึ่งก็มี 7 ออฟฟิศที่ได้ทำ ก็รู้สึกดีใจนะครับ เป็นเกียรติมากเลย เพราะว่าเราไม่ค่อยมีโอกาสที่ได้ทำภาพยนตร์ ที่จะทดแทนบุญคุณที่พระองค์ท่านทรงทำให้กับคนไทยมามากเท่าไหร่ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกัน ก็กระโดดเข้าใส่เลย"

บอกไม่อยากให้คนมองตนเป็นฮีโร่หรือโลโก้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกคนเป็นได้ เผยดีใจที่ช่วงน้ำท่วมคนไทยไม่มีแบ่งสี และช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ

"จริงๆ ผมอยากให้คนไทยทุกคนเป็นโลโก้มากกว่า เพราะว่าท่านทรงงานหนักให้กับทุกคน ท่านไม่ได้ทรงงานหนักให้ผมคนเดียว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนควรจะออกมาเป็นทั้งโลโก้ และโล่สำหรับพระองค์ท่าน ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดไม่ดีกับพระองค์ท่าน เราควรจะเป็นโล่ เพราะท่านทำให้กับคนไทยทุกๆ คน และวันนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้ทดแทนบุญคุณพระองค์ท่าน ก็จงแสดงเถอะเพราะว่าท่านเหนื่อยมา 60 กว่าปีแล้ว จะต้องให้ท่านเหนื่อยต่อสู้กับความรู้สึกแบบนี้เหรอ ทำไมเราไม่เป็นโล่ป้องกันไม่ให้ความรู้สึกแบบนี้ หรือสิ่งแบบนี้เข้าไปกระแทกพระราชหฤทัยพระองค์ท่านล่ะ เราลุกขึ้นมาสิครับ อย่าเอาแต่มองผมเป็นฮีโร่ จงมาช่วยเป็นฮีโร่ทุกๆ คน ผมเชื่อว่าไม่ใช่ใครหรอก แต่เราเองจะมีความสุข"

"กับช่วงที่ผ่านมาแม้จะหมดเรื่องภาวะบ้านเมืองไปแล้ว แต่มาเกิดเรื่องน้ำท่วม ผมรู้สึกว่าสุดท้ายคนไทยก็รักกัน วันที่น้ำท่วมเราไม่มองหรอกว่าคุณสีอะไร ฉันไม่ให้ ไม่มีเลย วันที่เราไปแจกของเราก็ช่วยกันแจก วันที่เราบริจาคของเรา ก็ไม่ได้ระบุไปว่าบริจาคให้กับคนเสื้อสีนั้น สีนี้ห้ามรับก็ไม่มีเห็นไหมครับ ทุกคนช่วยกัน ผมว่ามันเป็นสิ่งที่บางครั้งธรรมชาติก็อยากจะพิสูจน์เหมือนกันว่าจริงๆ แล้วคนไทยรักกันจริงหรือเปล่า แล้วเราก็ตอบคำถามธรรมชาติ แล้วก็สังคมโลกได้ว่าสุดท้ายคนไทยรักกัน"

"สุดท้ายก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน ด้วยความรู้สึกที่ทุกคนมีต่อพระองค์ท่านในลักษณะเดียวกัน ในจุดเดียวกัน คือความเคารพและความรัก และการมองเห็นสิ่งที่พระองค์ท่านทำให้กับประเทศชาติ มันทำให้เกิดความรู้สึกที่วันนี้พระองค์ท่านไม่ต้องเหนื่อยอีกแล้ว เราจะช่วยกันเหนื่อยแทน ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี ออกไปแจกของกันเยอะมาก เดือดร้อนกันเยอะมาก แล้วก็น่ารักมาก ชอบๆ"

ยอมรับภาพยนตร์เรื่อง "ชิงหมาเถิด" ผลงานชิ้นล่าสุดของตนนั้นมีการเสียดสีการสังคม-การเมืองจริง แต่ยืนยันไม่ได้เจาะจงว่าใครเป็นพิเศษ และไม่หวั่นใครจะต่อต้านยังไง

"หนังของผมก็ยอมรับครับว่ามีเสียดสีการเมือง มีหมดแหละ เพราะมันเป็นหนังแนวนี้สไตล์นี้อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติของหนังสไตล์นี้ที่เป็นซัทไทร์คอมเมดี้ (สุขนาฏกรรมเสียดสี) แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปจ้องทำลายล้างใคร ศิลปะฆ่าคนไม่ได้ ศิลปะทำลายล้างคนไม่ได้ แล้วผมว่านี่คือศิลปะชิ้นนึง เพราะฉะนั้นเข้าไปดูแล้วจะรู้ว่าหนังไม่ได้จงใจด่าใครเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเรื่องราวหรือเป็นกลุ่มคน หรือไม่มีกลุ่มองค์กรไหนที่จะล่มสลายเพราะหนังเรื่องนี้แน่นอน ไม่มีพรรคการเมืองไทยที่จะได้รับผลกระทบจากหนังเรื่องนี้แน่นอน"

"ก็แค่มีหยิกหยอกในสิ่งที่เรารู้สึกว่า บางครั้งถ้าเรามองในเรื่องขำ เราก็จะยิ้ม ก็ทำแค่ตรงนั้นไม่ได้มีเป้าหมายไปล้มล้าง หรือไปว่ากล่าวเสียดสีใคร แต่บอกได้เลยว่าถ้าคิดจริงก็ทำได้มากกว่านี้(หัวเราะ) แต่ถามว่าจะทำจริงๆ ไหม ไม่หรอกครับ ศิลปะไม่เคยทำร้ายใคร และเราก็ไม่ได้คิดจะเอาศิลปะไปทำร้ายใครด้วย ผมมั่นใจว่าผมทำงานศิลปะนะ ผมไม่ได้ทำร้ายใคร และศิลปะทำร้ายใครไม่ได้"

"ฟีดแบคที่ไม่ดีก็ไม่มีนะ ถึงมีมันก็ตั้งแง่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วล่ะ ก่อนหนังเรื่องนี้ด้วย ก็ไอ้สีเสื้อที่มันคากันอยู่นี่แหละครับ ก็จะมีแบบว่ามันสีนี้เราไม่ดูหนังมัน ก็ว่ากันไปมันก็ตั้งแง่กันตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันไม่เกี่ยวกับเรื่องของความเป็นจริงที่ควรจะหยิบยกมาพิจารณา มันเป็นเรื่องอคติส่วนตัว คือถ้าถามผมว่ากลัวไหม ผมคิดอย่างนี้นะ คุณทำอะไรอยู่ สิ่งที่คุณทำดีหรือเลวคุณรู้ตัวดี สิ่งที่คุณทำมันไปกระทบกระแทกแดกดันใคร มันไปทำร้ายใครคุณรู้ดี ผลที่มันเกิดขึ้นถ้ามันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของเราก็จงยอมรับสิ แต่ถ้ามันไม่ทุกข์ก็อย่าไปรับมันเท่านั้นเอง"

"ผมไม่ได้ทำร้ายใคร ภาพยนตร์ผมไม่ได้ทำร้ายใคร ถ้าเขามากล่าวหาเราแล้วเราไม่รับ มันก็จบเท่านั้นเอง แต่ถ้าเกิดเรารู้สึกว่าหนังเราทำร้ายคนจริงๆ หรือตัวเราเองไปกล่าวร้ายใครสักคนนึง แล้วผลมันเกิดขึ้น มันก็ต้องยอมรับ ถ้าผมประกาศด่าใครสักคนนึงในที่สาธารณะ แล้วมีผลกระทบกับคนๆ นั้น คนๆ นั้นหรือคนกลุ่มนั้น มีฟีดแบคกลับมาที่ผม เราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เราประกาศจริงไหมครับ มนุษย์ต้องเคารพในการกระทำของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องรู้ว่าเราทำอะไร สิ่งที่เราทำมันดีหรือไม่ดี ถ้าทำดีแล้วจะกลัวอะไรล่ะ ผมไม่ได้บอกว่าผมทำดีหรือไม่ดีนะ แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่าเราทำดีจะกลัวอะไร ทุกคนไม่ใช่แค่ผมคนเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเราต้องเคารพ"

บอกเรื่อง "ชิงหมาเถิด" ยังเป็นแค่เสียดสีเล็กๆ แต่ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรตินี้ยอมรับว่าเสียดสีรัฐบาลเต็มๆ เพราะไม่ว่ายุคไหนก็ไม่เคยมีใครจัดการปัญหาชาวนาได้

"อย่าไปยึดติดเลยว่า เรื่องต่อไปผมจะทำอย่างนี้อีก อย่าง 2 เรื่องแรกมีอะไรไหมล่ะ แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องซัตไทพ์ คอมเมดี้ มันเป็นเรื่องของเสียดสี มันต้องหยิบตรงนี้มาอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าหยิบแล้วมันขำ หยิบมาแล้วยิ้มๆ รู้สึกขำกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นก็จงหยิบเอามาก็แค่นั้นเองเป็นสไตล์ เพราะฉะนั้นเรื่องต่อไปถ้าผมกลับไปทำดราม่า มันจะไปเสียดสีใครอีกล่ะ แต่ภาพยนตร์มันมีแง่คิด อย่างเรื่อง จากฟ้าสู่ดิน ที่ผมทำนี่ อันนี้แหละเสียดสีเต็มๆ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยประกาศว่า เป็นอาชีพที่จะดูแลจนถึงที่สุด เป็นอาชีพที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก แต่เป็นอาชีพแรกที่น่าจะล่มสลายไปจากประเทศนี้ เพราะไม่มียุคไหนที่ชาวนาไม่เคยออกนอกถนนเลย(หัวเราะ) อันนี้เสียดสีเต็มๆ ตรงๆ เลยนะ"

"เป็นเป้าหมายที่คิดชัดเจนเลยว่า ที่ทำหนังเรื่องนี้บางครั้งเราอยากให้คนที่มีอำนาจมองอาชีพนี้ เพราะวันนึงเมื่อชาวนาประกาศขายที่ เหมือนหนังเรื่องนี้ที่ป้ายติดเต็มไปหมด ขายแล้วเพื่อที่จะนั่งรถไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ และคนที่ซื้อคือนายทุนคนไทย แล้วถ้าเกิดว่าคนที่ซื้อมันไม่ใช่นายทุนคนไทยล่ะ อีกหน่อยชาวนาเป็นของใครล่ะ อาชีพชาวนาเป็นอาชีพสงวนก็จริง แต่ถ้ามันมีนอมีนีมาล่ะ บ้านเรามันฮิตคำว่านอมีนีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันมีคำนี้มาอยู่แล้ว ฉะนั้นมันน่ากลัวไงครับ นี่แหละเสียดสีตรงๆ(หัวเราะ)"

"ภาพยนตร์จะมีปรัชญาของมัน มันจะมีแง่ให้เราคิด สิ่งเหล่านี้แหละที่เราเรียกว่าเสียดสีกระทบกระทั่งใคร แต่ "ชิงหมาเถิด" มันแค่เสียดสีหยิกๆ ไม่เจาะลึก ขำๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่รู้ก็ไม่ขำ แต่เรื่องนี้มันเรื่องจริง มันน่าเศร้ามากกว่าด้วยนะ ผมว่าตรงนี้มันเป็นสิ่งที่คนส่วนมากคิดและผ่านเลยไป แต่ภาพยนตร์มันจะจารึกไว้ และบอกว่าจงระวัง คืออยากให้ดูแลกันจริงๆ เพราะห่วงว่าอาชีพชาวนามันจะไม่เหลือ ชาวนาวันนี้ต้องซื้อข้าวกินก็เศร้าแล้วล่ะ มันน่าสังเวชจริงๆ"

"แต่ผมห่วงช้ากว่าในหลวง 60 ปีนะ ในหลวงดูแลเรื่องนี้มา 60 ปีแล้ว ระบบชลประทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราคิดเรื่องของฝาย เรื่องของอ่างเก็บน้ำ เรื่องอะไรก็เรื่องของเกษตรกรทั้งสิ้น โครงการแก้มลิงก็เป็นโครงการที่ท่านคิดทดลองขึ้น อย่างฝนเทียมปีไหนแล้ง ท่านก็ทรงสั่งให้ส่งฝนเทียมไป ซึ่งท่านคิดถึงเรื่องเกษตรกร และเป็นห่วงเกษตรกรมา 60 กว่าปีแล้ว ในขณะที่กระทรวงเกษตรไม่เคยจริงจังเรื่องนี้เลย มีแต่สโลแกน ชาวนาขายข้าวเกวียนละเท่าไหร่ รัฐบาลขายข้าวเกวียนละเท่าไหร่ มันต่างกันเยอะนะครับ ลองคิดดูกันเอาเอง"

ขอบคุณข่าวแซ่บจากผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

 
Top