ทวงคืน'ภูทับเบิก'ท่องเที่ยวอนุรักษ์ยั่งยืน© สนับสนุนโดย Kom Chad Luek ทวงคืน'ภูทับเบิก'ท่องเที่ยวอนุรักษ์ยั่งยืน
"ภูทับเบิก" แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยสถานที่แห่งนี้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน จ.เพชรบูรณ์ ห่างจาก อ.หล่มเก่า 40 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเพชรบูรณ์ มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัยและอยู่บนที่สูงจึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าจะมองเห็นกลุ่มเมฆ และทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์
จุดเด่นที่สุดของภูทับเบิก คือ การชมวิวได้รอบทิศ 360 องศา เหนือบรรดาเมฆหมอกที่ลอยอยู่รอบๆ และมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และปลูกแต่กะหล่ำปลีทั่วทั้งหุบเขา
แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวแห่ขึ้นไปดื่มด่ำบรรยากาศบนยอดภูทับเบิก ความต้องการที่พักสะดวกสบายจึงเพิ่มตามไปด้วย ทำให้เกิดการสร้างห้องพักเพื่อสนองความต้องการ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดส่งผลให้หน้าตาของภูทับเบิกในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ในพื้นที่เต็มไปด้วยการก่อสร้างห้องพักแน่นขนัด จนมีการเรียกกันว่า "ภูเขาลูกกวาด" เพราะห้องพักที่ก่อสร้างมีสีสัน รูปแบบหลากหลายคละกันให้เห็นอย่างชัดเจน จนกินเนื้อที่ของทุ่งกะหล่ำที่เคยสุดลูกหูลูกตา และเป็นจุดขายของภูทับเบิกไปแล้ว และนับวันจะขยับขยายกินเนื้อที่ตั้งแต่ยอดภูไล่ระดับลงมาจนถึงไหล่เขา
ปัญหาของภูทับเบิกไม่ใช่แค่ทัศนียภาพที่เปลี่ยนไป แต่ได้กระทบไปถึงสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ดังนั้นการแก้ปัญหาและการ "จัดระเบียบ" จึงต้องทำให้ทันการณ์ ในส่วนของกรมป่าไม้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ขณะเดียวกันจังหวัดที่มองว่าภูทับเบิกคือแม่เหล็กอีกแห่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี จำเป็นต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อให้ภูทับเบิกกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนที่เสน่ห์ขุนเขาแห่งนี้จะเลือนหายไป หรือก่อนที่จะมีอันตรายเกิดขึ้นจากอาคารที่พักที่ก่อสร้างโดยไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการห้องพัก ร้านค้า ได้ประชุมร่วมกันที่โบสถ์คริสตจักรภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยมี "บัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์" ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์นั่งหัวโต๊ะ ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาบนภูทับเบิก ทั้งระยะสั้นหรือช่วงเร่งด่วนในช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวช่วงหน้าหนาว และเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อให้ภูทับเบิกยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
การแก้ปัญหาระยะสั้น ได้กำหนดไว้ 5 ประเด็น คือปัญหาสิ่งปลูกสร้าง ปัญหาราคาที่พักและอาหาร ปัญหาขยะ ป้ายข้างทาง ร้านข้างทาง ปัญหาความปลอดภัย โดยปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการก่อสร้างหรือการต่อเติมที่พักต้องมีหนังสือรับรองจาก "ศูนย์พัฒนาชาวเขาภูทับเบิก" ที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ และต้องนำแปลนก่อสร้างไปให้กองช่างของ อบต.วังบาล ที่ดูแลพื้นที่ช่วยตรวจสอบแบบด้วย เพื่อควบคุมเรื่องความมั่นคงแข็งแรงได้มาตรฐาน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับแต่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่รองรับการใช้กฎหมายและผังเมืองที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้
ข้อสองปัญหาขยะที่มีผลกระทบชัดเจน เพราะว่าภูทับเบิกมีระยะทางขั้นลาดชันเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร การเก็บขยะเพื่อไปทำลายของ อบต.วังบาล จึงทำได้แค่สัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น และเตรียมเพิ่มเที่ยวเก็บขยะให้มากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการสถานที่พักพร้อมให้ความร่วมมือ นอกจากนี้จังหวัดจะรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมเก็บขยะนำกลับลงไป โดยจะตั้งจุดแจกถุงดำไว้ให้พร้อม
ส่วนปัญหาข้อสาม เรื่องราคาที่พัก ค่าบริการ รวมทั้งอาหาร ที่มีเสียงตำหนิในโซเชียลว่าแพงเกินจริงโดยเฉพาะกะหล่ำผัดน้ำปลาทั้งที่ภูทับเบิกคือแหล่งผลิตกะหล่ำแต่ราคากลับสูงลิ่วถึงจานละ 100 บาท จึงได้ให้ร้านอาหารปิดป้ายราคาที่ยุติธรรมเหมาะสม รวมทั้งต้องให้การบริการที่มาตรฐานสะอาด
ส่วนป้ายโฆษณาสองข้างทางที่ไม่เป็นระเบียบ รวมทั้งร้านขายของข้างทางที่ต้องจัดระเบียบเพราะนับวันจะมีมากขึ้นโดยต่างคนต่างทำโดยไม่คำนึงถึงความสวยงามและความปลอดภัย ข้อสุดท้าย คือด้านความปลอดภัย รวมถึงการจราจรที่ในฤดูการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจำนวนมาก ดังนั้น ตำรวจและอาสาสมัครต้องเตรียมพร้อมที่จะให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มาตรการระยะยาว ต้องยอมรับว่าภูทับเบิกเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ชาวเขาเผ่าม้งอยู่มานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ปี 2410 กว่าร้อยปี ที่จะยืนยันว่าไม่ได้มาแผ้วถางป่า แต่ปลูกพืชมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเมื่อทางการจัดระเบียบให้เมื่อปี 2509 โดยมีศูนย์พัฒนาชาวเขาเข้ามาดูแล ทำทะเบียน ให้สิทธิทำกินในแปลงเกษตร แต่ก็ขาดช่วงไปทำให้การพัฒนาการดูแลไม่ต่อเนื่องไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องถึงเรื่องการท่องเที่ยว บางส่วนเห็นว่ามีโอกาสมีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็สร้างรีสอร์ทเล็กๆ พอมีรายได้ก็ทำตามกัน จนทุกวันนี้มีรีสอร์ทแล้ว 62 แห่ง บางแห่งก็มั่นคง แต่บางแห่งก็ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่มีกฎหมายดูแล
ดังนั้น จำเป็นต้องจัดระบบ โดยเริ่มสำรวจทำสำมะโนประชากร การครอบครองสิทธิทำกิน มีการทำเกษตร สร้างรีสอร์ท ถ่ายภาพทำพิกัดให้ชัดเจน โดยให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพ จากนั้นการก่อสร้างจะมีระบบมีระเบียบ จะก่อสร้างต้องเป็นไปตามกฎหมายผังเมืองและอนาคตจะมีการศึกษาการทำผังเมืองท้องถิ่นเพื่อให้ภูทับเบิกมีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสม แข็งแรงปลอดภัย และเข้ากับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
นับจากนี้ผู้ประกอบการรายใดจะก่อสร้างเบื้องต้นต้องมีการรับรองจากศูนย์พัฒนาชาวเขาและผู้ใหญ่บ้านก่อนว่าเป็นราษฎรภูทับเบิก เพื่อจัดระเบียบให้ถูกต้อง หากกฎหมายออกมาให้แก้ไขและยังไม่ยอมแก้ไขก็ต้องรื้อถอน ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือกับทุกคนในชุมชนเพื่อทำให้ภูทับเบิกยังคงมนต์เสน่ห์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของเพชรบูรณ์ต่อไป ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ยังเดินหน้าดำเนินคดีกับรีสอร์ทที่บุกรุกป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ต่อไป
ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ ทางจังหวัดคงไม่ไปก้าวล่วง เพราะพื้นที่บนภูทับเบิกมีทั้งที่เป็นพื้นที่ส่วนอุทยานและพื้นที่ตาม ครม.มีมติเมื่อปี 2509 ให้กรมประชาสงเคราะห์เดิมจัดตั้งศูนย์พัฒนาชาวเขาภูทับเบิกเพื่อดูแลราษฎรชาวเขา และพื้นที่ตรงนี้ยังไม่ได้มีการส่งคืนให้กรมป่าไม้ เมื่อมีมติ ครม.ยกที่ให้กรมประชาสงเคราะห์เดิม ซึ่งเป็นกรมพัฒนาสังคมฯ ในขณะนี้ดูแลใช้ประโยชน์อยู่ ฉะนั้นคนติดอยู่กับที่ก็ต้องดูเรื่องคนให้เรียบร้อย และถ้าคนที่อยู่ในพื้นที่เดิมไม่ได้ออกนอกเขต ฝ่ายปกครองเห็นว่าควรจัดระบบให้เรียบร้อยก่อน
แต่หากเป็นการออกนอกเขตเมื่อไหร่ เป็นการบุกรุกป่าเพิ่ม อย่างนั้นก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจากรอบปีที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่บุกรุกหรือก่อสร้างในเขตพื้นที่อุทยานหรือป่าสงวน ซึ่งอยู่นอกเหนือจากเขตประชาสงเคราะห์เดิมอยู่แล้ว
"ส่วน 10 รีสอร์ทที่ถูกศาลตัดสินไปแล้ว โดยมีผลบังคับคดีให้รื้อถอน เป็นเรื่องของผลทางคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ต้องไปติดตามผลทางคดี ส่วนจังหวัดก็จะดูในเรื่องของภาพใหญ่ภาพรวม และจะทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญต้องยอมรับว่าภูทับเบิกในวันนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเพชรบูรณ์ สร้างรายได้และกระจายรายได้ให้แก่พื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดด้วย" ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ กล่าว
ขณะที่ วันชัย ชยารมย์ ผู้ใหญ่บ้าน และเป็นตัวแทนผู้ประกอบกิจการรีสอร์ท บอกว่า ต้องการให้ทางการดูแลมาจัดระเบียบ เพราะขณะนี้มีการก่อสร้างอย่างสะเปะสะปะมาก ทำให้การจราจรติดขัด น้ำไฟไม่พอใช้ แต่ก็บางรายประมาณ 5 ราย เท่านั้นที่ยังเห็นแย้งไม่เข้ามาร่วม เพราะยังเข้าใจผิดถึงการใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าถ้าคนส่วนใหญ่ปฏิบัติแนวทางเดียวกันแล้ว คนที่เหลือก็จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะขณะนี้มีหลายรายกำลังก่อสร้าง เมื่อมีการควบคุมการขอความร่วมมือก็คงจะต้องถูกกำกับ ถ้าทำผิดก็คงรื้อถอนหรือปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและให้ภูทับเบิกเป็นที่ท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ลูกหลานได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะเดียวกัน ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่า เตรียมที่จะลุยจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ผิดวัตถุประสงค์บนภูทับเบิก โดยเตรียมจะรื้อรีสอร์ท โดยเฉพาะในส่วนที่มีการฟ้องร้องไปแล้ว 27 คดี และศาลมีคำสั่งให้คดีสิ้นสุดแล้ว 10 คดี ซึ่งเป็นคดีที่เกิดระหว่างปี 2556-2557 ขณะเดียวกันจะลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมพัฒนาสังคมอีกว่า ยังมีรายใดที่ทำผิดเจตนารมณ์ของกรมประชาสงเคราะห์เดิม ถ้าพบก็จะดำเนินคดี
"ถ้าสร้างโฮมสเตย์หรือที่พักขนาดเล็กไม่ขัดกับระบบนิเวศก็คงไม่มีปัญหา ซึ่งจะต้องมีการจัดโซนนิ่งกันอย่างชัดเจน โดยจะใช้เวลา 2 เดือนหลังจากทำโรดแม็พว่าจะจัดการอย่างไรกับภูทับเบิก" อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงแนวทางจัดระเบียบภูทับเบิก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภูทับเบิกซึ่งแต่เดิมเป็นทุ่งกะหล่ำปลี ต่อมาได้รับส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงนิเวศ แต่ได้เปลี่ยนไป โดยทุ่งกะหล่ำปลีในโซนยอดภูได้ถูกลดพื้นที่ลง เนื่องจากมีอาคารที่พักถูกสร้างขึ้นแทนที่ ซึ่งยังเป็นคำถามว่าแม้ว่าจะเป็นกิจการชาวบ้านหรือชาวม้งเจ้าของสิทธิทำกินเมื่อเลิกปลูกพืชแต่หันมายึดทำรีสอร์ทสร้างรายได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดวัตถุประสงค์หรือไม่
ประการสำคัญ ทำอย่างไรให้การรองรับความเจริญสามารถควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้!
"ภูทับเบิก" เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ให้กรมประชาสงเคราะห์เดิม เมื่อปี 2509 จัดสรรให้แก่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งปัจจุบันมี 2 หมู่บ้านคือหมู่บ้านทับเบิก หมู่ 14 และหมู่บ้านทับเบิกร่วมใจ หมู่ 16 จำนวน รวม 720 ครัวเรือน หรือกว่า 3,200 คน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งทำกิน แต่การปฏิรูประบบราชการ การทำงานของกรมประชาสงเคราะห์ ในตอนนั้นที่ยังไม่เรียบร้อย ทำให้การดำเนินการ การดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่ชัดเจนนัก การเข้าดูแลพื้นที่โดยศูนย์พัฒนาชาวเขาภูทับเบิก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดูแลพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์เดิมของกรมประชาสงเคราะห์ที่จัดสรรที่ดินให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเข้ามาอยู่ คือ การอนุรักษ์ทรัพยากร การป้องกันปัญหายาเสพติดและพัฒนาคุณภาพชีวิต
แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสร้างความเย้ายวนในเรื่องรายได้จากท่องเที่ยวที่สูงขึ้นทุกปี แม้แต่ชาวม้งที่หันมาเป็นเจ้าของกิจการรีสอร์ท รวมทั้งนักลงทุนนอกพื้นที่ได้เข้าไปแสวงหากำไร บางส่วนยอมทุ่มเงินเพื่อสวมสิทธิ์ที่ดินทำกินเพื่อประโยชน์รายได้

แสดงความคิดเห็น

 
Top