เมื่อวันที่ 6 เมษายน (1998) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันที่ในชื่อขององค์การนาซา ได้เผยแพร่ภาพถ่ายล่าสุดจากยานสำรวจดาวอังคารโกลบอลเซอร์เวเยอร์ (Mars Global Surveyor) ที่ถ่ายภาพใบหน้าลึกลับแถบไซโดเนียบนดาวอังคาร หลังจากที่ยานไวกิง 1 และ 2 ไปสำรวจและถ่ายไว้เมื่อ 22 ปีมาแล้ว และกลายเป็นปริศนาดำมืดมาตลอดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและอารยธรรมบนดาวอังคารว่ามีจริงหรือไม่







ภาพดาวอังคารและตำแหน่งที่ยานไวกิง 1 และ 2ยานพาทไฟน์เดอร์ลงจอด และพื้นที่แถบไซโดเนีย(สี่เหลี่ยมสีฟ้า) ที่ปรากฏใบหน้าลึกลับและวัตถุทรงพีระมิดลึกลับ







ตำแหน่งของไซโดเนียบนทรงกลมดาวอังคาร


ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ขั้วความคิดต่างก็พยายามวิเคราะห์ภาพถ่ายแถบไซโดเนียใบนั้นโดยอาศัยคณิตศาสตร์ชั้นสูงและคอมพิวเตอร์เข้าช่วย แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าความเป็นจริงคืออะไร เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีผลการวิเคราะห์ที่สนับสนุนฝ่ายตนอยู่

นาซาเปลืองตัวเพราะเหตุใบหน้าลึกลับ



หากแนวความคิดที่ว่าใบหน้าลึกลับนี้เป็นสถาปัตยกรรม ไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติ เป็นจริงแล้วละก็ นั่นหมายความว่าเรื่องชีวิตนอกพิภพก็ต้องเป็นเรื่องจริง รวมทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งอีกด้วย เพราะใบหน้าลึกลับนั้นมีขนาดกว้างราว 2 กม. ยาว 2.5 กม. และมีความสูงราว 400 เมตร หากไม่มีวิทยาการสูงแล้วก็ไม่อาจที่จะสร้างได้



ภาพถ่ายที่นาซานำมาเผยแพร่เพราะต้องการให้เห็นเป็นเรื่องตลกกลายเป็นเรื่องที่ทำให้นาซาต้องเปลืองตัว เพราะหลังจากนั้น ผู้ที่สนใจติดตามเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารต่างพยายามเรียกร้องให้นาซาถ่ายภาพใบหน้าลึกลับนี้มาอีกครั้งในโครงการสำรวจดาวอังคารรุ่นหลังๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมานาซาไม่เคยถ่ายภาพใบหน้าลึกลับแถบไซโดเนียนี้อีกแม้แต่ครั้งเดียว ในปี ค.ศ. 1993 ยานมารส์ออบเซอร์เวอร์ (Mars Observer) ซึ่งถูกกำหนดแผนการไว้ให้ถ่ายภาพใบหน้าลึกลับอีกครั้งก็ไม่สามารถถ่ายภาพส่งกลับมาได้ ซึ่งในครั้งนั้นนาซาแถลงว่าเกิดจากยานสูญเสียการควบคุมในช่วงนั้นพอดี จึงไม่สามารถถ่ายภาพมาได้ตามแผน



ต่อมาโครงการยานอวกาศพาทไฟน์เดอร์ (Mars Path Finder) ที่ลงสำรวจดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ. 1997 รวมทั้งยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ที่เดินทางถึงดาวอังคารเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1997 จากนั้นก็โคจรรอบดาวอังคารเพื่อถ่ายภาพทำแผนมาตลอด ก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้ถ่ายภาพใบหน้าลึกลับนี้เลย

นี่เองที่ทำให้นาซาถูกระแวงสงสัยจากผู้สนใจเรื่องดาวอังคารว่ากำลังปกปิดความลับอะไรเอาไว้ และปกปิดไว้เพื่ออะไร ประกอบกับเหตุการณ์ที่ยานลึกลับตกแถบรอสเวลล์อีกทั้งยังมีมนุษย์ต่างดาวอยู่ภายในยานอีกด้วย ซึ่งผู้สนใจเกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ต่างดาวส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นยานที่มาจากต่างดาวจริงเพราะมีพยานและหลักฐานมากมาย แต่ทางการสหรัฐฯก็แถลงว่าไม่มีอะไร เป็นเพียงอุปกรณ์ตรวจอากาศธรรมดา จากกรณีนี้ก็ยิ่งทำให้นาซาถูกระแวงและถูกโจมตีมากยิ่งขึ้น








ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ขณะกำลังถูกประกอบ
แต่เมื่อต้นเดือนเมษายน นาซาก็เปลี่ยนแผนโดยกำหนดภารกิจให้ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ซึ่งโคจรรอบดาวอังคารเพื่อถ่ายภาพมากว่า 200 รอบแล้ว เข้าไปถ่ายภาพใบหน้าลึกลับในแถบไซโดเนีย โดยนาซาแถลงว่ายานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ประสบปัญหาด้านเทคนิคเกี่ยวกับแผงเซลล์สุริยะที่ลำตัวยานอันเป็นแหล่งผลิตพลังงานเลี้ยงยานอวกาศ ทำให้ต้องปรับเส้นทางการโคจรใหม่ และในการปรับเส้นทางโคจรใหม่นี้ทำให้สามารถโคจรผ่านแถบไซโดเนียและถ่ายภาพใบหน้าลึกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ยานไวกิงถ่ายภาพไว้เมื่อ 22 ปีมาแล้วและก่อให้เกิดข้อถกเถียงตลอดมา เพื่อจะได้พิสูจน์ความจริงกันเสียที








ภาพวาดแสดงยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ขณะกำลังสำรวจทำแผนที่ดาวอังคาร


วันที่ 5 เมษายน ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ก็ได้ถ่ายภาพใบหน้าลึกลับบนดาวอังคารและส่งกลับมายังโลก และในวันรุ่งขึ้น นาซาก็ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวไปทั่วโลกทางอินเตอร์เนตทันที โดยนาซาให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถนำข้อมูลภาพถ่ายใหม่นี้ไปวิเคราะห์เพื่อไขปริศนาได้ตามอัธยาศัย


ภาพถ่าย “ใบหน้า” ล่าสุดจากยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ที่นาซานำมาเผยแพร่และสรุปว่าแท้ที่จริงแล้ว

เป็นเนินเขาที่ถูกลมและน้ำกัดเซาะประกอบกับแสงและเงาขณะถ่าย ภาพที่ทำให้หลอกตาว่าเป็นใบหน้า





จากข้อมูลภาพถ่ายใหม่ที่ถ่ายโดยยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ซึ่งกล้องถ่ายภาพมีคุณภาพสูงกว่ากล้องประจำยานไวกิงที่ใช้ถ่ายภาพใบหน้าเมื่อครั้งก่อนถึง 10 เท่า ทำให้พบว่า ใบหน้า นั้นแท้ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ใบหน้า หากแต่เป็นเนินเขาที่มีรูปทรงคล้ายใบหน้าเท่านั้นเอง เมื่อประกอบเข้ากับทิศทางแสงที่เหมาะสมก็เลยทำให้เห็นเป็นรูปใบหน้า



ความจริงเริ่มกระจ่าง?


หลังจากที่นาซาเผยแพร่ภาพใบหน้าดังกล่าวพร้อมทั้งสรุปว่า    เป็นเพียงเนินเขาธรรมดาที่ถูกลมและน้ำกัดเซาะจนคล้ายใบหน้า แทนที่ปริศนาจะคลี่คลาย แต่กลับกลายเป็นว่าภาพ ใบหน้า อันเป็นหลักฐานชิ้นใหม่นี้ทำให้ผู้ติดตามเรื่องดาวอังคารแบ่งออกเป็น 3 ขั้วความคิด นั่นคือ ส่วนหนึ่งเชื่อถามถ้อยแถลงของนาซา อีกส่วนหนึ่งยังแบ่งรับแบ่งสู้พร้อมทั้งขอเวลาวิเคราะห์ภาพอย่างละเอียดเสียก่อน และส่วนที่เหลือนั้นคือส่วนที่ยังเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าใบหน้าลึกลับนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมนอกพิภพ และส่วนหลังนี่เองที่วิพากษ์วิจารณ์นาซาหนักกว่าเดิมว่าเป็นการวางแผนอย่างแยบยลและใช้ภาพซึ่งถูกตกแต่งมาหลอกลวงประชาชนเพื่อยุติเรื่องใบหน้าลึกลับ และตัวองค์การนาซาเองต่างหากที่มีความลึกลับดำมืดอยู่ภายในหน่วยงาน กลายเป็นว่านาซามีแต่เรื่องเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง




ทางด้านสมาคมค้นคว้าชีวิตบนดาวเคราะห์อื่น (Society for Planetary SETI Research) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ นักค้นคว้าหลายคน อย่างเช่น สแตนลีย์ แมคแดเนียล สมาชิกคนหนึ่งของสมาคมซึ่งเป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือชื่อ กรณีใบหน้าลึกลับ (Case for the Face) ซึ่งเพิ่งวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ ได้แสดงความเห็นว่าจากหลักฐานภาพถ่ายของยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ก็ยังไม่ได้ทำให้ตนตัดสินใจว่าเรื่องใบหน้าลึกลับบนดาวอังคารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสถาปัตยกรรม ควรมีการสำรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับได้หากผลออกมาว่าใบหน้านั้นเป็นเพียงเนินเขาตามธรรมชาติ











สแตนลีย์ แมคแดเนียล ผู้ค้นคว้าเรื่องใบหน้าลึกลับและเป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือ“กรณีใบหน้าลึกลับ” ที่เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับใบหน้าลึกลับบนดาวอังคาร




ทางด้านมาร์ก คาร์ลอตโต และจอห์น แบรนเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเช่นกัน ทั้งสองเคยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์ภาพถ่ายใบหน้าบนดาวอังคารภาพเก่าที่ถ่ายจากยานไวกิงและเชื่อว่าใบหน้านั้นเป็นสถาปัตยกรรม ทั้งสองให้ความเห็นว่าภาพถ่ายใหม่นี้ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ภาพถ่ายอย่างละเอียดอีกระยะหนึ่ง













ดร. มาร์ก คาร์ลอตโต มาร์ก คาร์ลอตโต นักวิจัยหนุ่มผู้สนใจค้นคว้าเรื่องความลึกลับบนดาวอังคาร คาร์ลอดโตได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวอังคารและมีความเห็นว่าเรื่องใบหน้าลึกลับน่าจะเป็นความจริง รวมทั้งเหตุที่ภาพถ่ายจากยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ดูแล้วไม่คล้ายใบหน้าเป็นเพราะทิศทางของแสงและดร. จอห์น แบรนเดนเบิร์ก








อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพถ่ายชุดใหม่นี้หลายประการ เช่น



ประการแรก ภาพถ่ายใหม่นี้ถ่ายในตอนเช้าของเวลาบนดาวอังคาร ส่วนภาพถ่ายเดิมนั้นถ่ายเมื่อเวลาบ่าย ซึ่งทิศทางแสงผิดกัน เมื่อนาซาบอกว่าทิศทางแสงช่วยหลอกตาให้เห็นเนินเขาเป็นใบหน้าได้ ในทางตรงกันข้าม ทิศทางแสงก็อาจหลอกตาให้เห็นใบหน้าเป็นเนินเขาได้เช่นกัน



ประการที่สอง ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ถ่ายภาพนี้จากมุมเอียง ไม่ได้โคจรไปถ่ายเหนือใบหน้าโดยตรง จึงเป็นไปได้ว่ามุมกล้องและทิศทางแสงอาจหลอกตาให้เห็นภาพใบหน้าเป็นอย่างอื่นไปได้



ประการที่สาม ในช่วงที่ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ถ่ายภาพใบหน้าเป็นเวลาที่แถบไซโดเนียมีเมฆครึ้มและมีทัศนวิสัยที่ไม่ดีนัก ทำให้ภาพถ่ายที่ได้ขาดรายละเอียดไปมาก







ภาพใบหน้าที่ถ่ายจากยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์เมื่อวันที่ 5 เมษายน ภาพซ้ายเป็นภาพขาวดำที่ยานส่งมา ดูไปแล้วจะเห็นว่าไม่คล้ายใบหน้าแต่เมื่อทดลองกลับภาพให้ขาวเป็นดำ เหมือนดูจากฟิล์มเนกาตีฟ (ภาพขวา) ปรากฏว่าภาพนี้กลับดูคล้ายใบหน้า มีส่วนที่เป็นตา จมูก และปาก (ภาพเล็กตรงกลาง) นี่แสดงให้เห็นว่าทิศทางของแสงมีส่วนช่วยให้วัตถุประหลาดสิ่งนี้ดูทั้งคล้ายและไม่คล้ายใบหน้า ดังนั้นผู้ที่มีแนวโน้มเชื่อไปทางอารยธรรมนอกพิภพจึงยังไม่ปักใจเชื่อภาพและคำแถลงของนาซานัก (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย)







เปรียบเทียบภาพใบหน้า (ซ้าย) ภาพถ่ายจากยานไวกิงเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว (กลาง) ภาพที่ถ่าย

จากยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ และ (ขวา) ภาพกลางที่ถูกนำมากลับเป็นภาพเนกาตีฟ 




ประการที่สี่ วัตถุทรงพีระมิดในบริเวณใกล้เคียง เช่น ป้อมปราการ (The Fortress) พีระมิดดีและเอ็ม (D&M Pyramid) และเมือง (The City) ฯลฯ ยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นวัตถุตามธรรมชาติหรือเป็นสถาปัตยกรรม หากสิ่งต่างๆเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมจริง ใบหน้าลึกลับก็มีโอกาสที่จะเป็นสถาปัตยกรรมได้ด้วย











คาร์ลอตโตได้นำภาพถ่ายใบหน้าที่ถ่ายได้ใหม่มาเปรียบเทียบกับภาพรูปปั้นของโจฮันน์ เซบาสเตียนบาค นักดนตรีเอกในสมัยปลายศตวรรษที่ 17 โดยคำนวณทิศทางแสงและเงา และตำแหน่ง ให้เหมือนกับเมื่อยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ถ่ายภาพใบหน้าไว้ และพบว่าภาพซีกขวาของใบหน้าลึกลับ (ใบหน้าด้านขวามือของผู้อ่าน) ขาดราย-ละเอียดของแสงเงาอย่างที่ควรจะเป็น (ลองเปรียบเทียบกับภาพซีกขวาของรูปปั้น)คาร์ลอตโตสันนิษฐานว่าเป็นเพราะทัศนวิสัยของบรรยากาศในยามเช้าของฤดูหนาวบนดาวอังคาร และนี่เองที่ทำให้ภาพที่ได้มาใหม่นี้ดูไม่คล้ายใบหน้า






คาร์ลอตโตทดลองเติมแสงและเงาที่ขาดหายใบในใบหน้าซีกขวาโดยให้มีสมมาตรกับใบหน้าซีกซ้ายก็พบว่าดูไปก็คล้ายใบหน้ามาก



ปริศนาที่ยังคงเป็นปริศนา



ทางด้านผู้ที่เชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าใบหน้าลึกลับนี้เป็นผลงานของอารยธรรมนอกพิภพก็กล่าวหานาซาว่านาซาแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าต้องการยุติเรื่องใบหน้าลึกลับบนดาวอังคารเพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องอารยธรรมนอกพิภพ โดยสังเกตได้จากการที่นาซารีบร้อนเผยแพร่ภาพและสรุปเรื่องอย่างรวดเร็วภายในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้รับสัญญาณภาพจากยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์โดยยังไม่มีการวิเคราะห์ภาพ นอกจากนี้ยังกล่าวหานาซาอีกด้วยว่าเมื่อครั้งที่ยานออปเซอร์เวอร์ที่สำรวจดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ. 1993 แล้วไม่ได้ถ่ายภาพใบหน้าส่งกลับมายังโลกโดยอ้างว่ายานสูญเสียการควบคุมนั้น ที่จริงแล้วเป็นข้ออ้างของนาซาที่จะไม่ถ่ายภาพใบหน้ามามากกว่า






นักค้นคว้าเรื่องใบหน้าลึกลับบางรายถึงกับนำเรื่องฝบหน้าลึกลับบนดาวอังคารไปเกี่ยวโยง

กับเรื่องปริศนาผ้าห่อศพแห่งเมืองตูริน (เรื่องผ้าห่อพระศพนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผ้าห่อศพที่

ถูกค้นพบที่เมืองตูรินเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วบนผ้ามีรอยประทับรูปเค้าหน้า
และร่างกายมนุษย์อยู่ ผ้าห่อศพผืนนี้ถูกเชื่อกันว่าเป็นผ้าที่ใช้ห่อศพพระเยซูหลังจากที่ถูกตรึงบน

ไม้กางเขนแล้ว และรอยประทับของใบหน้านี้ก็คือใบหน้าของพระเยซูนั่นเอง 




แต่ต่อมานักวิทยาศาสตร์พิสูจน์อายุของผ้าแล้วลงความเห็นว่าอายุของผ้าไม่สอดคล้องกับยุค
สมัยของพระเยซู ดังนั้นผ้าห่อศพนี้จึงไม่ใช่ผ้าห่อศพของพระเยซู แต่เรื่องดังกล่าวก็ยัง

มีผู้ที่เชื่ออยู่จนทักวันนี้ 




ดังนั้นแทนที่ปริศนาใบหน้าลึกลับบนดาวอังคารจะกระจ่าง ก็กลับกลายเป็นว่าใบหน้านั้นยิ่งลึกลับกว่าเก่า แต่อย่างไรก็ตาม ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์ถูกกำหนดให้โคจรผ่านแถบไซโดเนียและถ่ายภาพใบหน้าอีก 2 ครั้งในเดือนเมษายนนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าภาพถ่ายในชุดหลังจะช่วยคลี่คลายปริศนาที่ดำมืดมากว่า 20 ปีได้หรือไม่





ที่มา : http://www.yupparaj.ac.th

____________________

เครดิต :

________________________________

Pageviews

แสดงความคิดเห็น

 
Top