เทวีอโฟร์ไดท์ให้ประสูติบุตรธิดาดับเทพเอเรส 3 องค์ ธิดาคือ นางเฮอร์โมไอนีนั้น ได้อภิเษกกับแคดมัสเจ้ากรุงธีบส์ ส่วนบุตรคือ คิวพิด กับแอนทีรอส คิวพิด นั้นคือกามเทพของโรมัน ชาวกรีกเรียกว่า อีรอส  อีรอสหรือคิวพิดซึ่งเป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสนี้ เป็นคนละองค์กับอีรอสหรือคิวพิดที่อุบัติขึ้นแต่ครั้งสร้างโลก และการกล่าวขวัญถึงโดยทั่วๆ ไปก็มักจะหมายถึงอีรอสซึ่งเป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสองค์นี้

นอกจากเทพอพอลโลแล้ว อีรอสเป็นที่ถือกันว่าประกอบด้วยรูปลักษณะงามที่สุดในบรรดาเทพทั้งหลาย ปรัชญาเมธีเพลโตกล่าวความอุปไมยเกี่ยวกับเทพองค์นี้ไว้ว่า "กามเทพ คือ อีรอส ย่อมเข้าสิงหัวใจคนก็จริง แต่ก็ไม่ทุกหัวใจไป ด้วยว่าที่ใดมีความแข็งกระด้างเธอก็ผละหนี เกียรติคุณอันล้ำเลิศของเธอนั้นอยู่ที่ว่า เธอหาอาจที่จะทำผิด หรือยอมให้ผู้ใดทำผิดไม่ แม้กำลังบังคับก็ไม่สามารถจะหักเธอได้ลง"

ว่ากันว่า ตำนานของเทพอีรอสผู้นี้ นักกวีชาวกรีกรุ่นก่อนมิได้แต่งขึ้น ต่อมากวีฮีสิออดได้แต่งให้มีเทพองค์นี้ เกิดขึ้น แต่มิใช่โอรสของเทวีอโฟร์ไดท์เลย เป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นตำนานของเทพผู้นี้จึงเป็นนักกวีชาวโรมันเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น และจะมีเฉพาะตำนานของโรมันเท่านั้นที่มีเรื่องราวของเทพองค์นี้ปรากฏอยู่

ตามตำนานที่ยอมรับทั่วไปกล่าวว่า อีรอสเป็นเทพ "ติดแม่" เป็นที่สุด เมื่อมีเทวีอโฟร์ไดท์อยู่ ณ ที่ใดอีรอสก็ปรากฏอยู่ ณ ที่นั้นด้วย อันเป็นข้อเปรียบถึงธรรมดาแห่งความงามและกามวิสัยนั่นเอง อีรอสถือลูกศรแห่งกามฉันท์กับคันธนูน้อยเป็นอาวุธ สำหรับยิงเสียบหัวใจของเทพและมนุษย์ให้เกิดความปรารถนาเร่าร้อนไปด้วยความพิศวาส โดยที่ในชั้นเดิมเธอเป็นเด็กเยาว์อยู่เป็นนิตย์ไม่มีวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีเทพน้อยอีกองค์ หนึ่งอุบัติขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนเล่นและบริวารของเธอ เรียกว่า แอนทีรอส กำเนิดของแอนทีรอสนั้นมีตำนานเล่าไว้ดังนี้

เมื่อไม่เห็นอีรอสเจริญวัยขึ้นเสียเลย อโฟรไดท์ปรารภกับธีมิส เทวีแห่งความยุติธรรมว่า อีรอสบุตรของเธอทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงดูเธอให้โตขึ้นได้ ธีมิสชี้แจงว่า เหตุที่อีรอสไม่เติบโตก็เพราะเธอขาดเพื่อนเล่นแก้เหงา ถ้ามีน้องเกิดขึ้นสักองค์หนึ่งเธอคงจะโตขึ้นอีกมาก ต่อมาในไม่ช้าแอนทีรอสก็เกิดขึ้นภายหลังแต่นั้นอีรอสก็เติบโตแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ถึงกระนั้นรูปคิวพิดหรืออีรอส ที่เขียนและแกะสลักกันขึ้นทั่วไปก็ไม่พ้นรูปเด็ก) แอนทีรอสนอกจากจะเป็นเพื่อนเล่นของอีรอสแล้ว ยังถือกันว่าเป็นเทพบันดาลให้มีการรักตอบด้วย

เรื่องของเทพ อีรอสกับนางไซคิ ซึ่งจะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่งในเทพปกรณัมกรีกโรมัน ด้วยเป็นเรื่องที่จับใจและให้คติน่าคิดหลายทำนอง สุดแต่ผู้อ่านผู้ฟังจะคิดเห็นตามอัธยาศัย โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องรักของเทพอีรอส เอง ผู้มีฤทธิ์จะบันดาลให้ใครรักใครก็ได้ประการหนึ่ง และชื่อนาง ไซคิ (Psyche) ตัวเอกของเรื่องนั้นก็เผอิญเป็นคำเดียวกันกับ คำที่หมายถึงจิตใจหรือดวงวิญญาณอีกประการหนึ่งด้วย หรืออาจกล่าวว่า เทพปกรณัมกรีกอุปโลกน์นางไซคิให้หมายแทนลักษณะของดวงวิญญาณก็ได้ บรรยายตามเรื่องที่เล่าในปกรณัมนั้นว่า

ในกาลครั้งหนึ่ง กษัตริย์องค์หนึ่งของกรีกมีธิดา 3 องค์ ล้วนทรงสิริโฉมงามสะคราญ แต่ความงามของ 2 องค์พี่รวมกันจะเทียม เท่าด้วยความงามองค์น้องสุดก็หาไม่ ธิดาองค์หลังสุดนี้ทรงนามว่า ไซคิ เป็นเจ้าของความงามอันลือเลื่องเฟื่องฟุ้งยิ่งนัก ถึงกับใครๆ พากันยกย่องเทิดทูนจนลืมบูชาเทวีอโฟร์ไดท์ เจ้าแม่แห่งความงามเสีย เป็นเหตุให้ศาลของเจ้าแม่เงียบเหงาวังเวง แท่นที่บูชาเจ้าแม่ก็ว่างเปล่าหาผู้ใดจะเข้าไปบวงสรวงมิได้ แม้แต่แขกเมืองก็พากันผ่านศาลเจ้าแม่ไปชมความงามของไซคิกันหมดสิ้น เจ้าแม่ริษยานวลอนงค์ยิ่งนัก คิดใคร่จะแกล้งนางไซคิให้ตกต่ำด้วยความอัปยศ เพื่อมิให้คนทั้งปวงยกย่องเทิดทูนและใฝ่ฝันถึงนางอีกต่อไป เจ้าแม่จึงเรียกอีรอสเทพบุตรมาบอกความประสงค์ของเจ้าแม่ให้ทราบ โดยสั่งให้อีรอสไปทำให้นางไซคิหลงรักสัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์สักคนหนึ่ง

อีรอสกระทำตามเจ้าแม่สั่ง แต่ผลปรากฏในภายหลังกลับกลายเป็นว่า "สัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์" ที่ไซคิจะต้อง หลงรักนั้นได้แก่ อีรอสเอง !

ในอุทยานของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์มีน้ำพุอยู่ 2 แอ่ง แอ่งหนึ่งเป็นน้ำหวาน อีกแอ่งเป็นน้ำขม น้ำพุหวานเป็นน้ำสำหรับบันดาลความ ชื่นบาน ส่วนน้ำขมสำหรับบันดาลความขมขื่นระทมใจ ในครั้งแรกอีรอสตักน้ำพุทั้งสองชนิดบรรจุกุณโฑชนิดละใบนำไปยังห้องที่ไซคิหลับอยู่ อีรอสเอาน้ำขมในกุณโฑประพรมลงบนโอษฐ์ไซคิแล้วจึงเอาปลายศรบันดาลความพิศวาส สะกิดสีข้างของนางในบัดดลไซคิก็สะดุ้งตื่น ถึงแม้ว่าอีรอสจะมิได้ปรากฏองค์ให้นางเห็น แต่ด้วยอารามลืมองค์ เธอจึงทำศรสะกิดองค์เธอเองด้วย เพราะตกใจและเธอก็ตกห้วงรักนางไซคิด้วยอำนาจศรของเธอเองตั้งแต่บัดนั้น เธอเอาน้ำพุหวานรดลงบนเรือนผมของไซคิ แล้วก็ผละผินบินออกจากที่นั้นไป

เวลาผ่านไปไซคิก็ยิ่งเหงาเปล่าเปลี่ยวใจไม่มีผู้ใดใฝ่ฝันจะขอวิวาห์ด้วย สายตาคนทั้งหลายยังคงตะลึงลานในรูปโฉมและคำคนยังแจ้วจำนรรจาสรรเสริญนางยังมีอยู่ แต่มิมีใครสู่ขอนางเป็นคู่ชีวิต เนื่องจากใครๆ ก็พากันเกรงนางอยู่สุดเอื้อมเหมือนกันหมด พี่สาวทั้งสองของนางได้แต่งงานไปแล้วกับเจ้ากรีกต่างนคร ส่วนไซคิยังคงอยู่เดียวเปลี่ยวใจต่อมาอีกเป็นเวลานาน จนบิดามารดาของนางเกิดปริวิตกเกรงว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีความบกพร่องอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตนได้กระทำลงไปโดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เทพเจ้าโกรธถึงบันดาลโทษให้ปรากฏเช่นนี้ ท้าวเธอจึงบวงสรวงเสี่ยงทายคำพยากรณ์แห่งเทพอพอลโล และได้รับคำพยากรณ์ว่า นางจะได้คู่ครองเป็นมนุษย์ปุถุชนก็หาไม่ คู่ครองของนางในภายหน้านั้นคอยนางอยู่แล้วบนยอดเขาขุนเขา เป็นอมนุษย์ซึ่งไม่มีมนุษย์หรือเทพองค์ใดจะขัดขืนหรือต้านทานได้

คำพยากรณ์นี้เป็นเหตุให้เกิดความเศร้าสลดแก่คนทั้งหลายและบิดามารดาของนางไซคิอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ตัวนางเองหาย่อท้อไม่ นางกลับเห็นว่าเมื่อวาสนาชะตากรรมของนางจะต้องเป็นเช่นนั้นก็ตาม บิดามารดาของนางจึงจัดแจงส่งนางขึ้นไปบนยอดเขา ประกอบด้วยขบวนแห่แหนดั่งแห่ศพฉะนั้น ฝูงคนทั้งปวงที่ตามขบวนแห่ก็ล้วนแต่เศร้าหมองมีใจคอห่อเหี่ยวอาลัย เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วบิดามารดาของนางและคนทั้งปวงก็พากันกลับ พร้อมด้วยใจละห้อยละเหี่ยยิ่งกว่าตอนขาไปอีก

นางไซคิยืนถอนสะอื้นด้วยความใจหายและว้าเหว่โดยลำพังตนอยู่บนชะง่อนหิน ในบัดดลเทพเสฟไฟรัสเจ้าแห่งลมตะวันตกก็บรรจงโอบอุ้มร่างไซคิขึ้นจากยอดเขา และหอบนางให้เลื่อนลอยลงสู่สถานแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยติณชาติเขียวขจี ห้อมล้อมด้วยนานารุกขพฤกษาชาติร่มรื่น นางเหลียวมองดูรอบข้างเห็นที่แห่งหนึ่งประกอบ ด้วยซุ้มไม้ซึ้งตาดูชอบกล นางจึงเยื้องกรายเข้าไป เห็นธารน้ำพุใสไหลรินดังธารแก้วผลึก และถัดจากนั้นไปมีตำหนักหนึ่งตั้งตระหง่านตระการตา ไซคิค่อยมีใจเบิกบานและอาจหาญขึ้นจึงเดินเข้าไปในตำหนัก ภายในตำหนักล้วนแล้วด้วยทัศนาภาพอันวิจิตรหาที่เปรียบมิได้ในบรรดาที่มีในมนุษย์โลก แต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ ปรากฏอยู่ในที่นั้นเลย

ในขณะที่เพลินชมภาพเจริญตาทั้งมวลภายในตำหนักนั้น พลันนางไซคิได้ยินเสียงพูดกับนางอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่เห็นตัว พูดว่า "ข้าแต่นางนาฏผู้เป็นใหญ่ สิ่งทั้งปวงที่ปรากฏแก่ตาท่านในที่นี้เป็นของท่านทั้งหมด พวกเราเจ้าของเสียงนี้คือบริวารของท่าน ซึ่งจะ ปฏิบัติตามคำสั่งท่านทุกประการ จงวางใจพวกเราเถิด พวกเราจัดห้องบรรทมและกระยาหารสรรพด้วยรสอันจะพึงใจท่านพร้อมแล้ว ขอท่านจงเสพกินตามอัธยาศัยเถิด"

ไซคิปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญ และคอย "อมนุษย์" ผู้จะมาครองคู่กับนางตลอดเวลานั้นนางได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ บรรเลงขับกล่อมแสนไพเราะหูยิ่งนัก แต่ "อมนุษย์" คู่ครองนางหาได้มาในยามกลางวันไม่ หากยามราตรีกาลมืดสนิทจึงจะมา และพอเวลาใกล้รุ่งก็กลับไป ไซคิไม่สามารถแลเห็นคู่ครองของนางเลยว่ามีรูปร่างพิกลอย่างไร นางเพียงแต่ ได้ยินคำพร่ำพรอดอันเต็มไปด้วย ความอ่อนหวาน ซึ่งก็ชักจูงจิตใจนางให้เคลิบเคลิ้มพลอยสนิทเสน่หาไปด้วยเท่านั้น

ไซคิอยู่ครองกับอีรอสโดยไม่รู้ว่าคู่ครองนางเป็นใครเป็นเวลาแรมเดือน ถึงนางจะอ้อนวอนเท่าใด อีรอสก็ไม่ยอมอยู่ให้นางเห็น ยิ่งกว่านั้นเธอยังสั่งห้ามนางมิให้จุดไฟในราตรีกาลหรือถามนามของเธอเป็นอันขาด เธอให้เหตุผลกับนางว่า "เจ้าจะต้องการ เห็นข้าเพื่อประสงค์ใด เจ้ายังคลางแคลงใจในความรักของข้าอยู่หรือ ถ้าเจ้าแลเห็นชะรอยเจ้าอาจเทิดทูนบูชาหรือกลัวข้าก็ได้ แต่ข้าอยากให้เจ้าสมัครรักใคร่ข้าในฐานะปุถุชนคนเสมอกันมากกว่าอยากให้เจ้าเทิดทูนข้าเสมอด้วยเทพดอกนะ" ไซคิยอมจำนนต่อเหตุผลของอีรอส จึงสงบเงียบ ไม่ออดอ้อนเซ้าซี้คู่ครองนางอีก ต่อมาด้วยความคิดถึงวงศาคนาญาติ ทำให้นางไซคิขออนุญาตอีรอสเชิญพี่สาวไปเที่ยวที่ตำหนัก ในครั้งแรกอีรอสอิดเอื้อน แต่ในที่สุดก็อนุญาต

ฝ่ายพี่สาวทั้งคู่ของนางไซคิได้รับคำเชิญชวนของน้องสาวก็รีบมาด้วยความอยากรู้ว่าน้องสาวของตนจะอยู่กับอมนุษย์อย่างไร ครั้นมาถึงยอดเขาที่นางไซคิมาเป็นครั้งแรก ลมเสฟไฟรัสก็พัดโบกโอบอุ้มสองนางนั้นให้เลื่อนลอยลงมายังตำหนักของไซคิ เป็นที่พิศวงแก่นางทั้งสองยิ่งนัก และเมื่อน้องสาวพาเข้าไปในตำหนัก นางทั้งสองกลับเพิ่มความพิศวงขึ้นอีกในการที่ได้เห็นควมงามอันวิจิตรภายในตำหนัก ได้ประจักษ์ว่าข้าทาสบริวารของน้องสาวในสถานที่นั้นมีแต่เสียงไม่เห็นตัว ซ้ำคู่ครองของนางก็ไม่เคยแสดงโฉมหน้าหรือเผยชื่อให้ปรากฏ สองนางพี่น้องจึงเสี้ยมสอนยุยงไซคิถึงวิธีลักลอบดูตัวคู่ครองนาง หากว่าเป็นอมนุษย์ทรลักษณ์จริงจะได้ฆ่าเสีย

ไซคิปฏิบัติตามคำเสี้ยมสอนยุยงอย่างเสียมิได้ นางจัดแจงหาตะเกียงและมีดดาบซ่อนไว้ไม่ให้อีรอสเห็น เมื่ออีรอสนิทราหลับสนิท นางจึงลุกขึ้นจุดตะเกียงส่องดูสามี ไซคิก็รู้สำนึกว่าตนทำผิดโดยล่วงละเมิดคำสั่งห้ามของภัสดาไปเสียแล้ว
ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของนาง หาใช่อมนุษย์ไม่ แต่เป็นองค์เทพที่สง่างามละไมตาหาที่เปรียบมิได้ ณ เบื้องปฤษฎางค์ของอังสานั้นมีปีกติดอยู่ทั้งสองข้าง นางก็รู้ในบัดนั้นแล้วว่า อีรอสคือสามีของนาง ในขณะที่นางถือตะเกียงเขยิบเข้าไปพิศดูใกล้ๆ อย่างเพลินตานั้น น้ำมันตะเกียงซึ่งยังร้อนหยดลงบนผิวของอีรอส อีรอสสะดุ้งตื่นจากนิทราทันที พอเห็นเหตุดังนั้นเธอก็กางปีกออกโผผละจากที่นั้นไปทางช่องแกล ไซคิพยายามโผติดตามแต่กลับตกลงกับพื้น อีรอสโกรธนางไซคิถึงกับออกโอษฐ์ว่า "ดูก่อน ไซคิผู้โฉดเขลา เจ้าตอบแทนความรักของข้าโดยฉะนี้ดอกหรือ ไปเถิดไปหาพี่สาวของเจ้าผู้เสี้ยมสอนดีเถิด ข้าจะลงโทษเจ้าโดยจากเจ้าตลอดกาลแต่บัดนี้ ด้วยความรักย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากความไว้วางใจ" แล้วอีรอสก็เหินหายลับไปในอากาศ ฝ่ายไซคิคืนสติเหลียวมองดูรอบข้าง ได้รู้ว่าทั้งตำหนักและอุทยานได้อันตรธานหายไป คงเหลือแต่นางอยู่แต่เดียวดายโดยลำพัง ให้บังเกิดความว้าเหว่ระทมทุกข์ยิ่งนัก

ไซคิออกจากที่นั่น ไปหาพี่สาวและเล่าเหตุที่เกิดทั้งหมดให้พี่สาวฟัง สองนางแสร้งทำเป็นพลอยเศร้าสลดแต่ใจจริงลิงโลดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นางคบคิดกันจะไปยังที่นั้นอีก หากว่าอีรอสจะเลือกนางคนใดคนหนึ่งในสองพี่น้องแทนนางไซคิ นางแต่ละคนต่างก็ขึ้นไปบนยอดเขาเรียกให้ลมเสฟไฟรัสมารับตัวลงไป แต่ลมไม่ได้รับคำสั่งจากอีรอสจึงไม่มารับดั่งในครั้งก่อน พอนางแต่ละคนโผออกจากยอดเขาด้วยสำคัญผิดว่าลมเสฟไฟรัสมารับ นางก็กลับตกเขาตาย

ในระหว่างนั้น ไซคิซัดเซพเนจรเที่ยวค้นหาสามีไปตามที่ต่างๆ พบใครก็สืบถามดะไปหมด เช่น นางได้พบแพน เทพบุตรขาแพะ แต่เทพก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากฟังเรื่องและปลอบใจนางเท่านั้น วันหนึ่งนางมาถึงศาลเจ้าแม่ดีมิเตอร์ เทวีครองการเก็บเกี่ยว เห็นเคียว ข้าวโพด และเครื่องมืออื่นๆ กองสุมกันอยู่ระเกะระกะไม่เป็น ระเบียบนางจึงจัดข้าวของเสียใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ ดูเรียบร้อย เจ้าแม่ดีมีเตอร์ก็โปรดให้บังเกิดความสมเพชสงสารนางไซคิในความอาภัพอัปภาคย์ของนางเป็นอย่างยิ่ง เจ้าแม่จึงแนะนำให้นางไปที่ศาลเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ และให้บวงสรวงวอนขอความกรุณาต่อเจ้าแม่ดูสักครั้งหนึ่ง

แต่เจ้ากรรม เทวีแห่งความงามยังไม่หายคุมแค้นนางไซคิ เจ้าแม่บริภาษเปรียบเปรยว่าว่านางเป็นประการต่างๆ ให้นางระกำใจ มิหนำซ้ำยังใช้ให้นางทำการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นงานเหนือวิสัยมนุษย์ปุถุชนจะทำได้ คือ ให้จำแนกเมล็ดพืชนานาชนิดที่ระคนปนกันอยู่ในฉางออกจากกันเป็นพวกๆ ให้เสร็จก่อนค่ำ เพื่อเก็บไว้ให้นกพิราบของเจ้าแม่กิน ถ้านางทำได้สำเร็จเจ้าแม่ก็จะยอมยกโทษให้

นางไซคิมองดูธัญชาติในฉางด้วยความท้อถอย ทอดอาลัยสุดที่จะคิดอ่านประการใด ในขณะนั้นเองมดฝูงหนึ่งก็มาช่วยกันขนเมล็ดข้าวนานาชนิดไปกองไว้เป็นพวกๆ มดฝูงนั้นมาตามคำบัญชาของอีรอสเพื่อช่วยงานของนางไซคิให้สำเร็จด้วยความสงสาร จนเสร็จภายในเวลาที่กำหนดแล้วก็หายตัวไป พอเวลาพลบ เจ้าแม่ลงมาจากเขาโอลิมปัส ได้เห็นงานสำเร็จเรียบร้อยดังนั้น แทนที่จะโปรด กลับระบุว่านางคงไม่ได้ทำงานสำเร็จด้วยตนเอง และว่าผู้ที่ช่วยนางในครั้งนี้มิใช่ใครอื่น นอกจากอีรอสเป็นแน่ เจ้าแม่ยังไม่ยอมยกโทษให้ หากกลับใช้นางทำการอีกอย่างหนึ่งต่อไป

ในคราวนี้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ใช้นางไซคิให้ข้ามแม่น้ำสายหนึ่งไปถอนขนแกะซึ่งไม่มีผู้ใดเลี้ยง ณ ฟากตรงข้ามของแม่น้ำเอามาถวายเจ้าแม่ แกะฝูงนั้นล้วนมีขนเป็นทองคำ และเจ้าแม่ก็พึงประสงค์ขนแกะทองคำมากที่สุด ให้นางไซคิถอนขนแกะทุกตัวตัวละขนเอามาถวายให้จงได้ ไซคิไปถึงริมฝั่งแม่น้ำแต่เช้าแต่ต้นอ้อริมฝั่งแม่น้ำหน่วงนางเอาไว้ ทั้งนี้ด้วยเทพประจำแม่น้ำสงสารนางว่าจะไปตายเสียเปล่า จึงสั่งความลับไว้ให้ต้นอ้อบอกแก่นางเกี่ยวกับวิธีที่ปลอดภัยในการไปเอาขนแกะทองคำ ความลับ นั้นมีว่า ตั้งแต่เวลาเช้าถึงเที่ยงแม่น้ำมีอันตรายมาก และแกะฝูงนั้นก็ดุร้าย ถึงนางจะข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งตรงข้ามได้สำเร็จก็น่ากลัวจะไม่วายถูกฝูงแกะทำลายชีวิตเสีย ต่อเวลาเที่ยงล่วงแล้วฝูงแกะจึงกลับเชื่อง และแม่น้ำก็สงบนิ่ง ให้นางรออยู่จนถึงเวลานั้นจึงค่อยข้ามแม่น้ำไป นางจะพบขนแกะทองคำติดตามพุ่มไม้ ให้นางเที่ยวเก็บเอาตามพุ่มไม้ เหล่านั้นเถิด

นางไซคิปฏิบัติตามคำแนะนำของต้นอ้อทุกประการ ในไม่ช้าก็หอบขนแกะทองคำเอามาถวายเจ้าแม่อโฟร์ไดท์เป็นอันมาก เจ้าแม่ไม่สมหวังในการประทุษร้ายนางไซคิในครั้งนี้ จึงแกล้งใช้นางให้ทำธุระอีกอย่างหนึ่งเป็นครั้งที่สาม

โดยงานชิ้นที่สามที่เทวีอโฟร์ไดท์ได้สั่งให้นางไซคิทำก็คือ การนำโถใบหนึ่งลงไปในยมโลก ไปเฝ้าเพอร์เซโฟนีเทวี ทูลขอเครื่องประกอบความงามของเจ้าแม่ ให้เจ้าแม่บรรจุลงในโถใบนี้แล้วนำกลับมาให้แก่ตน ให้รีบไปและรีบกลับโดยเร็วก่อนค่ำวันนี้

ไซคิเมื่อได้ยินคำสั่งดังนี้ ให้นึกแน่ว่าครั้งนี้นางคงถึงแก่อับจนไม่พ้นมือมัจจุราชเป็นเที่ยงแท้ แต่นางก็คิดว่าดีเหมือนกัน เรื่องราวทั้งหลายจะได้ยุติลงเสียที และเพื่อตัดบทในการที่จะดั้นด้นลงสู่ยมโลกที่มนุษย์ปุถุชนไม่สามารถที่จะทำได้ นางจึงขึ้นไปบนยอดหอสูงหมายจะโดดลงมาให้ตาย เพื่อมิให้ร่างกายต้องทรมาน และในบัดดล พลันได้ยินเสียงหนึ่งในหอลอยมากระทบหูของนาง เป็นคำปลอบและบอกทางให้นางลงสู่ยมโลกโดยลัดเลาะไปตามถ้ำ ลงเรือจ้างของเครอนข้ามแม่น้ำคั่นตรุที่ประทับของเทพ ฮาเดส และบอกวิธีหลีกเลี่ยงเซอร์บิรัส สุนัขสามหัวให้ด้วย แต่กำชับว่าในระหว่างที่ยังอยู่ในยมโลก นางจะกินผลไม้ใดๆ มิได้ เว้นแต่อาหารที่ทำด้วยแป้ง และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีมอบโถให้แล้วห้ามมิให้นางเปิดโถนั้นดูเป็นอันขาด นางไซคิปฏิบัติตามคำ แนะนำของเสียงนั้นอย่างเคร่งครัดทุกประการ เว้นแต่ประการสุดท้ายประการเดียว

ในขณะที่ไซคินำโถกลับมาตามทางนั้น นางคิดว่าความงามอันใดบรรจุอยู่ในโถ ถ้านางเปิดโถออกให้ความงามนั้นพลุ่งขึ้นเสริมความงามของนางเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นคงเป็นการดีไม่น้อย นางลุอำนาจแก่ความอยากรู้อยากเห็นเช่นนั้น จนลืมคำกำชับห้ามปราม พอเปิดโถออกนางก็ล้มสลบแน่นิ่งไป ด้วยสิ่งที่บรรจุอยู่ในโถมิใช่ความงาม แต่เป็นความหลับในยมโลก 

ฝ่ายอีรอสซึ่งยังอยู่ในอำนาจพิษศรกามของเธอเอง ในขณะนั้นหายโกรธแล้ว ให้ระลึกถึงนางไซคิเป็นที่สุด เธอรู้ว่าไซคิประสบเคราะห์กรรมเป็นไฉนจึงบินออกจากทิพมนเทียรลงสู่บาดาล เก็บความหลับกลับคืนในโถแล้วเอาปลายศรสะกิดเบาๆ นางก็ฟื้นตื่นจากวิสัญญีภาพ เธอตัดพ้อชี้ให้เห็นโทษของความสอดรู้สอดเห็นอันบังเกิดแก่นางถึงสองครั้งแล้ว ให้นางปฏิบัติภาระที่ได้รับ มอบจากเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ต่อไปให้เสร็จ ส่วนตัวอีรอสเองจะขึ้นไปบนสวรรค์ทูลขอต่อซูสให้โปรดเกลี้ยกล่อมเจ้าแม่แห่งความงามงดโทษโกรธขึ้งนางไซคิเสีย ซึ่งซูสเทพบดีก็โปรดให้ตามที่ขอ เมื่อเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ยอมงดโทษแก่นางไซคิแล้ว ซูสจึงประทานน้ำอมฤตให้นางไซคิดื่ม ซึ่งจะทำให้เป็นอมตะอยู่ครองคู่กับอีรอสโดยไม่พลัดพรากจากกันอีกเลยนับแต่บัดนั้นมา

แสดงความคิดเห็น

 
Top