ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทวีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้

เฮสเทีย (Hestia) ในภาษาโรมันว่า เวสตา (Vesta) เป็นที่เคารพนับถือในฐานะอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดย เฉพาะไฟเตาผิงตาม เคหสถานบ้านช่อง เพราะฉะนั้นจึงถือกันว่าเจ้าแม่ย่อมคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านด้วย เตาไฟผิงเป็นที่ ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับครอบครัวกรีก และโรมันจนเกือบจะเรียกว่า ที่บูชาก็ได้ ด้วยเขาถือว่า ไฟที่ลุกบนเตานั้นเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อ มีเด็กเกิดใหม่ในบ้านกรีก พอเด็กอายุได้ 5 วัน พ่อของเด็กจะอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิง ซึ่งในสมัยโน้นอยู่กลางเคหสถาน ไม่ได้อยู่ ติดฝาเหมือนสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิงนั้นก็เพื่อให้ เป็นเครื่องหมายว่า เจ้าแม่จะได้รับเด็กนั้นไว้ในความอารักขา คุ้มครองของเจ้าแม่ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเริ่มเดิน

เฮสเทียเป็นพี่สาวคนโตของซูส เป็นเทวีที่รักษาความโสดอย่างดียิ่ง ประชาชนจึงเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลนี้อีก อย่างหนึ่งด้วย เฮสเทียไม่ยอมเป็นชายาของซูส แม้โปเซดอนซึ่งเป็นพี่ชายขอแต่งงานด้วยเฮสเทียก็ไม่ยินยอม และอพอลโลซึ่ง เป็นหลานก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน

วิหารของเจ้าแม่เฮสเทีย มีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้สละการวิวาห์อุทิศถวายเจ้าแม่ ทำหน้าที ่คอยเติมไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีประจำทุกนคร มิให้ดับ

ชาวโรมันเชื่อว่า ลัทธิบูชาเจ้าแม่เฮสเทียแผ่ไปถึงถื่นประเทศของตน โดยมีวีรบุรุษ อีเนียส (Aeneas) เป็นผู้นำเอาเข้า ไป แล้ว นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) กษัตริย์กรุงโรมจึงสร้างศาลเจ้าอุทิศถวายเจ้าแม่ขึ้นในกลางยี่สานโรมัน ซึ่งเรียกว่า Roman Forum เขาเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะแน่นแฟ้นว่า สวัสดิภาพของกรุงโรมทั้งมวล และการแผ่นดินทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่ที่ การรักษาเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารนั้ให้ดำรงอยู่เป็นสำคัญ

หญิงพรหมจารีผู้ทำหน้าที่คอยอารักขาเปลวไฟแห่งวิหารนี้เรียกว่า เวศตัล (Vestal) ในชั้นเดิมมี 4 คน ต่อมาในชั้นหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน อยู่ในความควบคุม ของจอมอาจารย์บัญชาการศาสนาของโรมเรียกว่า Pontifex Maximus เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีขาดจำนวนลง จอมอาจารย์ผู้นี้จะเลือกผู้สืบแทนในตำแหน่งที่ ว่างจากเวสตัลสำรองทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองนั้นจะต้องมีอายุในระหว่าง 6-10 ขวบ มีร่างกายและจิตใจสมประกอบ และมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองจะต้องรับการฝึกฝนอบรมเป็นเวลา 10 ปี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเวสตัลปฏิบัติหน้าที่ในวิหารศักดิ์อีก 10 ปี เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมเวสตัล สำรองต่อไปอีก 10 ปี จึงครบเกษียณอายุราชการ ปลดเป็นไทเมื่ออายุ 40 ถ้าพึงประสงค์ก็อาจประกอบอาชีพอย่างอื่นและมีสามีได้ในตอนนั้น

นอกจากหน้าที่คอยเติมไฟศักดิ์สิทธิ์มิให้ขาดเชื้อแล้วพรหมจารีเวสตัลยังมีภาระกิจที่จะต้องกระทำอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ ต้องไปตักน้ำจากบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria) ที่ชานกรุงโรมทุกวัน ความสำคัญของน้ำพุนี้มีตำนานเล่ากันว่า เดิมอิจีเรียเป็นนางอัปสรบริวารของเทวีอาร์เตมิส นางมีความเฉลียวฉลาด และเป็นคู่หูของ ท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งโปรดหารือการแผ่นดินทั้งปวงกับนางมิได้ขาด กวีโอวิคถึงแก่ระบุว่า นางเป็นชายาของท้าวนูมาด้วยซ้ำ แต่กวีคนอื่นกล่าวว่านางเป็นเพียงที่ปรึกษา เท่านั้น อิทธิพลของชื่ออิจีเรียมีเพียงใดจะเห็นได้จากตอนท้าวนูมาบัญญัติกฎหมายและระเบียบตามแบบแผนใหม่ๆ มักจะประกาศแก่ราษฎรว่ากฎหมายและระเบียบแบบ แผนนั้นๆ ได้รับการเห็นชอบของนางอิจีเรียแล้วด้วยเสมอ เมื่อท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียเศร้าโศกนักหนา เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญจนกลายเป็นน้ำพุไป ชาวโรมันจึงถือกัน ว่า น้ำพุอิจีเรียเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยเหตุนี้

หน้าที่พิเศษของพรหมจารีเวสตัลนั้นได้แก่การอารักขาวัตถุลึกลับและศักดิ์สิทธิ์มากอันหนึ่ง เรียกว่า พัลเลเดียม (Palladium) เชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ไม่มีใคร นอกจากคณะเวสตัลทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นรูปประติมาของ เจ้าแม่เอเธน่า แต่บ้างก้ว่าเป็นโล่ อันหนึ่งตกลงมาจากสวรรค์ เมื่อครั้งศึกกรุงทรอย พวกกรุงทรอยถือเป็นของคู่เมืองว่าตราบใดของนี้ ยังอยู่ ในกรุงทรอย ตราบนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกเป็นอันขาด ต่อเมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสทหารเอกฝ่ายกรีกลักเอา ของนี้ไป กรุงทรอย จึงแตก แต่มีตำนานหลายเรื่องแก้ว่าทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียกลแก่กรีก มากกว่า ด้วยว่าของที่กรีกขโมยไปนั้น เป็นของ กำมะลอที่ฝ่ายกรุงทรอยทำเอาไว้กันของแท้ถูกขโมย ส่วน พัลเลเดียมของจริงยังอยู่ในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกเข้าเมืองได้ อีเนียสพาเอาไปด้วยจนถึงอิตาลี แล้วภาย หลังชาวโรมันเอาเก็บรักษาไว้ในที่ซ่อนมิดชิดในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในความอารักขา คุ้มครองของ คณะเวสตัลพรหมจารีอย่างเคร่งครัด

พรหมจารีเวสตัลไม่แต่จะมีหน้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากยังมีเอกสิทธิ์เหนือสามัญชน หลายประการอีกด้วย อาทิเช่น เมื่อมีงานเฉลิมฉลองสมโภช การเล่นรื่นเริงและการแข่งขันสาธารณะ เขาจัดที่พิเศษสำหรับคณะเวสตัลพรหมจารีโดยเฉพาะเป็น เกียรติยศ เมื่อเวสตัลพรหมจารีไปต่างแดน มี เจ้าพนักงานถือมัดขวานเรียกว่า fasces นำหน้าเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจเทียบเท่า ด้วยอำนาจ ตุลาการ มัดขวานนั้นคือขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมเล็กๆ กระหนาบรอบขวานมัดไว้ด้วยกันส่วนขวานโผล่บน ยอดหันคมออก เป็นของสำหรับเจ้าพนักงานถือนำหน้าตุลาการ แสดงถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อ พรหมจารีเวสตัลให้การเป็นพยานในศาล สถิตยุติธรรมก็ไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงให้การลุ่นๆ เท่านั้นศาลก็รับฟัง ถ้าบังเอิญเวสตัลคนหนึ่งคนใดพบนักโทษเข้า ในระหว่างทางที่เขาพาเอาไปจะประหาร ชีวิต ถ้าพึงประสงค์ก็อาจจะให้อภัยโทษปล่อยนักโทษนั้นให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นโดยพลการ

ชาวโรมันนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมั่นคงตลอดมาจนลุถึงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงยุติ ด้วยอธิราช ธีโอโดเซียสให้ระงับการ เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยุบเลิกคณะพรหมจารีเวสตัลเสีย

แสดงความคิดเห็น

 
Top