ทุ่งดอกลาเวนเดอร์© Olivia Bell Photography/Getty Images ทุ่งดอกลาเวนเดอร์
ทว่าอะไรคือคุณค่าของเมืองจำแลงสวยแบบจำลองเหล่านี้
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ทุกวันนี้คนไทยไม่ต้องเดินทางยาวนานเพื่อไปชมความงามของเวนิซไกลถึงแคว้นเวเนโต ประเทศอิตาลี ราชินีแห่งทะเลเอเดรียติก แค่เดินทางจากกรุงเทพฯไปไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง เวเนเซีย หัวหิน นั่งเรือกอนโดร่าฟังฝีพายร้องเพลง เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก หรือจะไปชมความงามของทุ่งดอกไม้สีม่วง สายลมพัดเย็นๆ ที่สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แทนทิวทัศน์ทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ก็มีบ้านเรือนสีพาสเทลมุงกระเบื้องสีอิฐ ตั้งอยู่เรียงรายไปตามไหล่เขา แม้นไม่ใช่เทือกเขาแอลป์ที่หันหน้าออกสู่ทะเลเมติเตอร์เรเนียน เพียงแค่ขับรถไปที่เขาใหญ่ ยุโรปแบบเช้าไปเย็นกลับก็อยู่แค่เอื้อม
ของจริงสิ่งจำลอง แบบไหนใช่เลย
ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรอกว่าใครจะชอบเมืองจำลอง หรือใครจะชื่นชอบความเป็นของจริง ลองมาฟังมุมมองของกูรูด้านการท่องเที่ยวอย่าง กาญจนา หงษ์ทอง เธอว่าก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ อย่าลืมว่าเราเองก็เผลอวิพากษ์วิจารณ์จีนกันอยู่บ่อยๆ ถึงวัฒนธรรมการลอกเลียนแบบของชาวจีนที่ก็อปปี้เมืองดังๆ สวยๆ จากทั่วมุมโลกอย่างเวนิส และฮัลสตัทท์ชนิดที่ว่ายกทั้งเมืองไปไว้ที่จีน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว เรื่องนี้มองได้หลายแง่มุมมาก เช่น หากมองในมิติของการเรียนรู้ ก็ถือว่าการเนรมิตเมืองสวยๆในยุโรปมาไว้ในบ้านเรา เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับคนไทย ที่ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศกันทุกคน
"การมีสถานที่แบบนี้มาก็ทำให้ได้ทำความรู้จักกับโลกในมุมอื่นบ้าง หรือสำหรับบางคนอาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาออกเดินทางไปยังสถานที่จริงเมื่อมีโอกาส เพียงแต่ทุกวันนี้สถานที่แต่ละแห่งที่ทำก็ทำเป็นเชิงพาณิชย์กันมากกว่าที่จะเน้นไปในมิติของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง คงจะดีกว่านี้ถ้าสถานที่เหล่านี้สร้างตัวเองให้เป็นมากกว่าสถานที่ที่ให้นักท่องเที่ยวไปยืนโพสต์ท่าถ่ายรูป หรือแค่ฉาบฉวยไปกับบรรยากาศที่ถูกปรุงแต่งอย่างปลอมๆ
และหากมองในมิติของการสร้างสรรค์ การที่เจ้าของธุรกิจคิดแต่จะมองหาเมืองสวยๆ ในโลกมาแปะไว้บนแผนที่ประเทศไทย แทนที่จะคิดค้นมองหาจุดดีจุดเด่นของแผ่นดินเกิดขึ้นมาให้คนไทยด้วยกันได้ชื่นชม นานเข้าขวานทองคงอัตคัตชีวิตชีวาแห้งแล้งอารมณ์สร้างสรรค์ กลายเป็นขวานทองจีเอ็มโอที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม บางครั้งคนไทยก็ไม่ได้ต้องการแค่มุมถ่ายรูปสวยๆ แต่พวกเขาต้องการดื่มด่ำกับเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ไม่เชื่อลองถามตัวเองดูว่าคุณมีความสุขเวลาเดินในตลาดร้อยปีมากกว่าในสถานที่เหล่านี้จริงหรือเปล่า"
ด้านนักท่องเที่ยวมือสมัครเล่นอย่างสองพี่น้องตระกูลใบหยก จารุจิต- พิมพ์เลิศ ใบหยก ยอมรับว่าเธอชอบเดินทางท่องเที่ยวมาก แต่การเที่ยวต่างประเทศแต่ละครั้งต้องขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ (ปิยะเลิศ-ปริยะดา ใบหยก) สำหรับในเมืองไทยรู้สึกประทับใจ เกาะขาม จังหวัดตราด เนื่องจากผืนทรายละเอียดมาก ส่วน บุ๋ม-จารุจิต เล่าว่า เธอชอบประเทศญี่ปุ่นมาก ทว่าต้องเป็นฝั่งเกียวโต โกเบ โอซาก้า เพราะยังคงมีความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ไม่ค่อยทันสมัยเหมือนโตเกียว ที่นั่นยังมีบ้านเตี้ยๆ แบบญี่ปุ่น มีร้านอาหาร ร้านขนมเล็กๆ ริมทาง
"ถ้าเราไปญี่ปุ่นก็อยากจะไปเห็นอะไรที่ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น ไปฝรั่งเศสก็ต้องไปดูชนบทความเป็นฝรั่งเศสของเขา ไม่ค่อยชอบไปอยู่เมืองใหญ่ อยากไปดูวัฒนธรรมของเขา ถ้าเราไปฝรั่งเศสแต่ไปแล้วเจอความเป็นญี่ปุ่น ก็คงไม่ใช่แล้วล่ะ ไม่งั้นเราจะมาฝรั่งเศสทำไม ล่าสุดเจอเพื่อนเป็นคนเชียงราย เขามีเพื่อนมาจากออสเตรเลีย พาเพื่อนออสเตรเลียไปเที่ยวบาร์รำวง ฝรั่งที่เป็นเพื่อนเขาชอบมาก นี่มันคือเชียงรายจริงๆ ไม่ต้องพาไปชิลที่ร้านไวน์เก๋ๆ หรือไปร้านที่มีความเป็นยุโรปในเชียงรายหรอก ขนาดเราเป็นคนกรุงเทพฯ ไปเที่ยวเชียงราย ขึ้นดอยไปเจอเด็กชาวเขาพาไปเด็ดลูกเดือยข้างทาง บุ๋มว่ามันมีเสน่ห์แบบไม่ต้องประดิษฐ์อะไรมาก ทำไมเราต้องรู้สึกเหมือนอยู่ทัสคานีทั้งๆ ที่เราอยู่เขาใหญ่ บุ๋มไปเขาใหญ่เราก็อยากแอดเวนเจอร์ ไปส่องสัตว์ เพราะพูดถึงเขาใหญ่เราต้องไปส่องสัตว์"
ยุโรปจำลอง อาจจจะเป็นจุดขายที่ขายได้สำหรับคนไทยบางกลุ่ม แม้กระทั่งเพื่อนๆ ของเธอ สังเกตจากเวลาที่เธอถ่ายภาพลูกเดือยโพสต์บนอินสตาร์แกรม มีคนไลค์น้อยมาก แต่เวลาลงรูปที่ดูประดิษฐ์ เก๋ๆ คนจะมากดไลค์เยอะกว่า เธอเองก็เฝ้ารอให้คนไทยภูมิใจในตัวเองเหมือนคนญี่ปุ่น ที่เขาภูมิใจในความเป็นญีปุ่น ไม่ต้องทำบ้านเมืองให้เหมือนใคร อยากให้คนไทยเป็นแบบนั้นบ้าง กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเธอเองก็เริ่มเบื่อ ทำไมเราต้องพยายามทำตัวให้เป็นแบบคนอื่น ทั้งๆ ที่เราก็มีของดีอยู่แล้ว ทั้งนี้เธอคิดว่าเมื่อถึงจุดอิ่มตัวที่ทุกคนพยายามที่จะเป็นคนอื่น เดี๋ยวก็คงกลับมาเอง มาภูมิใจในความที่เป็นคนไทย วิถีชีวิตแบบไทยๆ เธอเองก็เฝ้ารอวันนั้นอยู่
ธามาริน เจริญพิทักษ์ เจ้าของแบรนด์ TENN เล่าว่า เวลาเขาเดินทางท่องเที่ยวไปที่แห่งไหน สิ่งที่ต้องการเสพก็คือรากเหง้า แก่นแท้ของความเป็นที่นั่น
"อย่างผมจะไม่ไปเที่ยวยุโรป เพราะรู้สึกว่า... อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวนะครับว่า ฝรั่งชอบดูถูกคนเอเซียก็เลยไม่อยากไป อีกอย่างผมไม่ชอบความวุ่นวาย ก็เลยชอบไปเที่ยวแถบประเทศญี่ปุ่นมากกว่า ผมชอบพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เขาเป็นอยู่ อยากไปสัมผัสความเป็นตัวเขา ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งมีทุกอย่าง มีห้างใหญ่โตอลังการ มีทุกอย่างด้านวัตถุ พื้นฐานของสังคมไม่ชัดเจน เหมือนเราไปส่องสัตว์จริงๆ กับไปดูสวนสัตว์ ผมว่าผมชอบไปส่องสัตว์จริงๆ มากกว่า
การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ถูกวิธี ผมว่าเมืองไทยสุดท้ายคนก็โหยหาความเป็นของแท้ ไม่ว่าเราจะไปขึ้นเหนือ ล่องใต้ คนที่ท่องเที่ยวมาระดับหนึ่งก็ต้องโหยหาของจริง ไม่ได้อยากไปเที่ยวที่ที่ทุกคนไป ไม่ใช่ไปเที่ยวตามแบบในหนัง (ตามรอยซีรีย์ต่างๆ) ลำบากหน่อย ไม่สบายหน่อย ได้เจอสิ่งที่เป็นของแท้ ได้อรรถรสมากกว่าไปเที่ยว ถ่ายรูปตามแบบที่คนอื่นไปมาแล้ว เมื่อไหร่ค่านิยมของความเห่อยังมีอยู่ เราก็หาตัวเองไม่พบ"
ธามารินมองว่าการเที่ยวเวนิสเมืองไทย แค่คำว่า "จำลอง" ต้องการแค่ให้ทุกอย่างอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย บางคนให้ความสำคัญกับความแท้น้อยลง สื่อแค่ภาพว่าฉันไปมาแล้ว เช่นไปเวเนเซียน มาเก๊า ถ่ายภาพบนเรือกอนโดร่าปลอมๆ อยู่ในสระว่ายน้ำที่ยาวเหมือนคลอง ทว่าข้างๆ มีคนจีนยืนดูดบุหรี่ ถุยน้ำลายลงน้ำ แต่ไม่แคร์ ต้องการแค่ถ่ายภาพในมุมแคบๆ เสมือนโลกนี้ดูแคบลงไป ถ้าเป็นสมัยก่อนการเดินทางไปเที่ยววัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง เป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวในอดีตจริงๆ ไปมาแล้วอธิบายให้คนฟังเพลินจนคนที่ไม่ได้ไปด้วยมองเห็นภาพ นั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้คนเราแค่คอปรูปแต่งรูปเอาเฉพาะจุด ทว่าแก่นแท้ความเป็นท้องถิ่นอยู่ตรงไหน กับการที่เรามีทุกอย่าง แต่ไม่มีอะไรจริงสักอย่าง แบบไหนจะมีคุณค่ากว่ากัน
ยุโรปจำแลง ไม่แพงไม่ไกล
ถ้ามองในมุมของเจ้าของประเทศ นี่ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศยุโรป แอนโธนี เหงียน ฟานตง ตำแหน่ง ที่ปรึกษาฝ่ายข่าว สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า อาจจะเป็นช่องทางที่ราคาถูกกว่าการเดินทางไปเอง
"ผมมองว่าเป็นเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยว มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะแน่นอนว่ามันราคาถูกกว่าการต้องจ่ายเงินเดินทางไปถึงสถานที่จริงในยุโรป แต่โดยส่วนตัวผม กลับคิดว่าถ้าอยากจะดูอะไรแบบนี้ ผมจะยอมเดินทางไปยังสถานที่จริงมากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ต้องสัมผัสจริง ขณะที่เมืองจำลองเหล่านี้ มันเหมือนการจัดตั้งขึ้นโดยขาดบริบทแวดล้อม อย่างที่เห็นการสร้างเมืองจำลองจากอิตาลีมาอยู่ที่จีน โดยส่วนตัวผมมองว่ามันขาดความหมายของวัฒนธรรม ทุกประเทศมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและชัดเจน และมันต้องไปดูต้นฉบับเพื่อรับรู้และสัมผัสวัฒนธรรมที่ประกอบอยู่กับสถานที่เหล่านั้นดีกว่า การตั้งสถานที่ออกนอกบริบทวัฒนธรรมเหล่านั้นมันก็ขาดความหมายน่ะ"
มุมมองของ แอนโธนี ในฐานะของชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่เมืองไทยมาระยะหนึ่ง มองว่าการเกิดสถานที่ท่องเที่ยวแบบจำลองบรรยากาศแบบยุโรปในประเทศไทยนั้น เขาคิดว่าเป็นเพราะ โลกาภิวัตน์ ทุกวันนี้คนทั่วโลกรู้จักกันและกันมากขึ้น และคนก็เดินทางกันมากขึ้น มีความสามารถในการจ่ายมากขึ้น มันก็เป็นเรื่องธุรกิจ บางคนรู้ว่าจะสามารถทำเงินได้จาก(ธุรกิจ)อิง(ธีมสถานที่)อะไรแบบนี้ ยกตัวอย่างการสร้างสถานที่จำลองวัฒนธรรมมาแบบนี้ในเมืองไทย มันช่างแตกต่างจากที่เคยเห็น คนก็ไปดู และธุรกิจเหล่านี้ก็ทำเงิน
"ผมว่าทุกประเทศก็มี specific items ที่ถือเป็นความชิค (chic) ที่ต่างไปนะ สำหรับยุโรปกับความเป็นยุโรป ผมคิดว่าประชาชนที่นั่นอาจจะถูกฝึกให้คิดแตกต่างจากคนเอเชีย นั่นคือ ถ้าคนมีไอเดียดีๆ แตกต่าง มันจะมีค่าขึ้นมาทันที จึงจะถือว่าชิค ซึ่งในเอเชียโดยรวมคนจะถูกฝึกให้คิดได้เหมือนๆ กัน ในยุโรปจึงค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องงานสร้างสรรค์ และมันจะเป็นแบบนั้นกับทุกๆ สายงาน รวมถึงเรื่องสถาปัตยกรรม ร้านอาหาร หรืออะไรต่างๆ ทุกอย่างต้องมีการสร้างสรรค์จึงจะมีคุณค่า และผมว่านั่นอาจจะเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชีย ทั้งในไทย จีนและผมเห็นในญี่ปุ่นด้วยนะ ที่ค่อนข้างสนใจความเป็นยุโรป"
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่คนส่วนหนึ่งสนใจเมืองจำลองเหล่านี้ อาจเป็นเพราะการเดินทางไปยุโรปแพงกว่า ระยะทางก็ไกลจากเมืองไทยมาก และยังมีความยุ่งยากในเรื่องการทำวีซ่าด้วย
© กรุงเทพธุรกิจ
"ผมคิดว่า มันเป็นความคิดที่เฉียบแหลมของคนทำธุรกิจที่มองเห็นช่องทางตรงนี้ และสร้างกระแสเที่ยวแบบนี้ และก็อปปี้สิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมแบบนี้มา แล้วมันก็มีคำพูดปากต่อปากจากนักท่องเที่ยวว่า ไปที่นี่สิ ไปดูโพรวองซ์ในประเทศไทย แต่สำหรับส่วนตัวผม เห็นว่าไปดูของจริงย่อมดีกว่า ในจีนเขาสร้างเมืองจำลองยุโรปไว้เป็นทั้งหมู่บ้านเลยนะ ซึ่งผมเป็นคนนอก ไปเที่ยวจีนก็อยากเห็นสถานที่จริงที่เป็นวัฒนธรรมจีนจริงๆ อย่าง กำแพงเมืองจีน อะไรแบบนี้มากกว่า เพราะที่ประเทศฝรั่งเศส เราไม่มีกำแพงเมืองจีน"
ถึงอย่างนั้นในมุมมองของคนฝรั่งเศส เขาคิดว่าคนเที่ยวจะได้ประโยชน์จากการเยี่ยมเมืองจำลอง สถานที่จำลองอย่างฝรั่งเศสในประเทศไทย
"ผมว่าอย่างน้อยก็จะได้สัมผัสแบบแตะๆ กับวัฒนธรรมผ่านสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ และถ้าได้แรงจูงใจก็อาจจะออกไปสัมผัสหรือเที่ยวในสถานที่จริง ถ้าได้ดูหอไอเฟลจำลองที่นี่ คุณก็อยากจะไปเห็นของจริงมากขึ้น หรืออย่างในกรุงเทพฯตอนนี้มีร้านอาหารยุโรป รวมถึงฝรั่งเศสเยอะมาก เมื่อคุณได้ลองลิ้มรส คุณก็อาจจะอยากชิมรสชาติจริงๆ ได้
เพราะฉะนั้นนี่คือการได้เริ่มต้นกับ(สิ่งจำลอง)วัฒนธรรมยุโรปเท่าที่มีอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ ซึ่งมันก็อาจกระตุ้นให้คุณอยากออกไปเที่ยว ไปดูของจริง สถานที่ต่างๆ ที่ยุโรปมากขึ้น"

แสดงความคิดเห็น

 
Top