แท้จริงแล้วในฤดูหนาวของประเทศไทย ไม่ได้มีแค่ภาคเหนือและอีสานตอนบนเท่านั้นที่มีอากาศหนาว แต่ภาคอีสานตอนล่างเยื้องๆ ตะวันออก อย่าง จ.อุบลราชธานี ก็หนาวไม่แพ้กัน วันนี้ Travel.mthai.com จะพาคุณไปเที่ยวหน้าหนาวที่นี่กัน อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ย้อนรอยอารยธรรมโบราณ จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่แรกในสยาม
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย
อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000 – 4,000 ปี ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว และเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุด ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ป่าเขาทางฝั่งประเทศลาวได้เป็นอย่างดี
ประวัติความเป็นมา
ในอดีต ชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป อาจเจ็บไข้หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ”
พื้นที่ป่าภูผาบริเวณผาแต้มได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาทำการสำรวจและค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2524 เสนอต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ
เมื่อดูจากแม่น้ำโขงจะเห็นเป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ แต่ในบริเวณที่เป็นหน้าผา จะปรากฏภาพเขียนสีโบราณโดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียงรายตามความยาวของหน้าผาติดต่อกันยาวประมาณ 180 เมตร มีไม่ต่ำกว่า 300 ภาพ ซึ่งเป็นจำนวนภาพเขียนสีโบราณที่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทยและในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดอีกมากมาย เช่น เสาเฉลียง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ สายลมและแสงแดดมีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งขึ้น มีส่วนบนเป็นแผ่นหินวางอยู่โดยไม่ติดกันมองดูคล้ายดอกเห็ด
ถัดจากเสาเฉลียงขึ้นไปบนเนินเขา ก็จะเป็น ลานหินแตก เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากกระบวนการกัดเซาะและกัดกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำและลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสึกกร่อนโดยน้ำหรือธารน้ำไหลกัดเซาะเป็นเวลาชั่วนาตาปี
เรียกได้ว่า ไปเที่ยวผาแต้มครั้งนึง ท่านจะได้ทั้งความสวยงามของธรรมชาติ และความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน ควรค่าแก่การท่องเที่ยวมากครับ เพราะในประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวลักษณะนี้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หากสนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทร. 045 318 026 , 045 246 332
แสดงความคิดเห็น