ไฟฟ้าขัดข้องขาดอากาศหายใจประตูล็อกตาย-ต้องทุบกระจกหมดสตินับสิบ-จวกยับรฟฟท.
แอร์พอร์ตลิงก์ป่วนชั่วโมงเร่งด่วน ระบบเดินรถขัดข้องจอดสนิทคารางลอยฟ้าระหว่างสถานีหัวหมากมุ่งหน้าสถานีรามคำแหง ขังผู้โดยสารกว่า 700 คนอยู่ในรถเกือบชั่วโมง จนมีคนเริ่มเป็นลมเพราะขาดอากาศ จึงช่วยกันงัดประตูรถ-ทุบกระจกออกมาได้ หามผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คนส่งโรงพยาบาล ผู้บริหาร รฟฟท.แจงเหตุระบบจ่ายไฟสถานีรามคำแหงขัดข้อง แถมเครื่องปั่นไฟสำรองใช้ไม่ได้ เพราะเก่าแก่ 5 ปีแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติบอร์ดฯจัดซื้อใหม่ ส่วนผู้โดยสารชดเชยขึ้นฟรี 1 เที่ยว พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งหมด
แอร์พอร์ตลิงก์ตายช่วงชั่วโมงเร่งด่วนรายนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 มี.ค. เกิดเหตุรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ขบวนสุวรรณภูมิมุ่งหน้าสถานีพญาไทขัดข้อง จอดหยุดนิ่งระหว่างสถานีหัวหมากมุ่งหน้าสถานีรามคำแหง ทำให้ระบบแอร์หยุดทำงานและประตูไม่สามารถเปิดได้ ทำให้ผู้โดยสารเต็มขบวนกว่า 700 คน หายใจไม่ออก พากันงัดประตูลงจากตัวรถเดินตามรางกลับไปยังสถานีหัวหมาก ขณะนั้นหน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญูเดินทางมาช่วยเหลือ พบมีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 7 คน จึงช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล ทราบชื่อนางพนิดา ปั่นบดี ส่งโรงพยาบาลสินแพทย์ น.ส.ทิพย์พะวัน ชนนิชา อายุ 30 ปี ส่งโรงพยาบาลวิภารามพัฒนาการ นางสิโรรัตน์ จอดนอก น.ส.เฉิน ลี่ สัญชาติจีน ส่งโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ นางจารุภา (ไม่ทราบนามสกุล) อายุ 60 ปี และนายศุภาชัย (ไม่ทราบนามสกุล) อายุ 30 ปี ส่งโรงพยาบาลสิรินทร ส่วนอีกคนยังไม่ทราบชื่อ ส่งโรงพยาบาลรามคำแหง
นายบัญชา ดีพิณ อายุ 21 ปี เจ้าหน้าที่สถานีขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก หนึ่งในผู้โดยสารเผยว่า ขึ้นรถมาจากสถานีลาดกระบัง จนกระทั่งถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 07.40 น. ขบวนรถไฟหยุดอยู่กับที่ 10 นาทีต่อมาระบบแอร์หยุดทำงาน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เริ่มหายใจไม่ออก มีคนพยายามเปิดประตูและทุบกระจก แต่พนักงานในขบวนรถไม่อนุญาต หลังจากนั้นเริ่มมีคนเป็นลมจึงมีคนพยายามเปิดประตูและทุบกระจกอีกครั้งจนสำเร็จ บางส่วนทยอยลงจากขบวนรถ หลังผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ถึงมีเจ้าหน้าที่นำรถอีกขบวนมาลากขบวนรถกลับมายังสถานีหัวหมากอย่างทุลักทุเล อยากให้ทางการรถไฟฯรับผิดชอบมากกว่านี้ ให้มีการซ้อมรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต และมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินพร้อมเจ้าหน้าที่ดูแล 1 คนต่อ 1 โบกี้ พยาบาลอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ขบวน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันภายในอนาคต
ส่วนนางพัชรินทร์ นาฮิม อายุ 44 ปี เผยด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่า ตนขึ้นรถจากสถานีสุวรรณภูมิในช่วงเช้า ผ่านสถานีหัวหมากรถวิ่งช้าลงจนหยุดนิ่ง ทุกคนในรถยังไม่ได้เอะใจ จนผ่านไป 10 นาทีคนควบคุมรถจึงแจ้งผู้โดยสารว่า รถขัดข้อง ผ่านไปชั่วโมงผู้โดยสารเริ่มเอะอะโวยวาย เพราะอากาศเริ่มร้อนและผู้โดยสารบางส่วนเริ่มเป็นลมหมดสติ พนักงานผู้ควบคุมขบวนได้วิ่งไปเปิดประตูที่ท้ายรถเพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ด้วยความยาวของขบวนรถและผู้โดยสารเต็มคัน ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ผู้โดยสารที่อยู่ด้านในจึงตัดสินใจทุบเปิดประตูฉุกเฉิน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่พอใจอย่างมากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่แจ้งเตือนว่าเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินมีวิธีการอย่างไร ปล่อยให้ผู้โดยสารอยู่กันตามยถากรรมและไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ต้องช่วยเหลือกันเอง
ต่อมาเจ้าหน้าที่นำขบวนรถไฟฟ้ามาลากขบวนรถที่ขัดข้องกลับสถานีหัวหมาก เพื่อเข้าตรวจสอบสาเหตุการขัดข้อง บรรยากาศโดยรอบสถานีแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมากวุ่นวายมาก มีผู้โดยสารออกมารอรถแท็กซี่เต็ม 2 ฝั่งถนนพัฒนาการ เนื่องจากเป็นช่วงเร่งด่วน จน 10.30 น. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จึงสามารถเดินรถได้ตามปกติ หลังเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ว่าจะช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างไร ประกาศแค่เพียงว่าเปิดให้บริการตามปกติและค่าโดยสารราคาเท่าเดิม
ด้าน พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เผยว่า สาเหตุเกิดขึ้นจากระบบไฟฟ้าขัดข้องบริเวณรามคำแหง ประกอบกับช่วงสถานีรามคำแหงเครื่องสำรองไฟที่ใช้งานมา 5 ปีแล้วไม่ทำงาน จึงส่งผลให้ขบวนรถไฟฟ้าหยุดทำงานค้างอยู่กลางสถานี ตอนนี้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ใช้งานได้ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่เราไม่ได้เข้าไปพื้นที่ช้า แต่เพราะไฟฟ้าดับอากาศร้อนทำให้ผู้โดยสารเปิดประตูฉุกเฉิน เมื่อเปิดประตูฉุกเฉินขบวนรถจึงไม่สามารถขยับไปไหนได้ อีกทั้งผู้โดยสารบางส่วนยังเดินออกจากขบวนรถมาตามรางรถไฟฟ้า ทำให้รถไฟอีกขบวนที่จะเข้าไปช่วยลากจูงออกจากสถานีได้ จึงต้องรอให้ผู้โดยสารออกจากรางรถไฟทั้งหมดก่อน ทั้งขบวนบรรทุกผู้โดยสารมาเต็มจำนวนประมาณ 745 คน ตอนนี้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ที่เป็นลมแล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลรามคำแหง 1 คน
“ส่วนมาตรการรองรับหลังจากนี้ จะหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณดังกล่าว ขณะที่การแก้ไขปัญหาของแอร์พอร์ตลิงค์ปัจจุบันได้เสนอไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หน่วยงานต้นสังกัด ให้ พิจารณาจัดซื้อเครื่องสำรองไฟใหม่ทั้งหมด 8 สถานี งบประมาณราว 34 ล้านบาท เนื่องจากเครื่องสำรองไฟที่ใช้อยู่ปัจจุบันอายุประมาณ 5 ปีแล้ว บางสถานีไม่สามารถใช้การได้ ยื่นเสนอไปยัง ร.ฟ.ท.แล้วเมื่อเดือน ม.ค. แต่ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา นอกจากนี้ ยังรายงานให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคมรับทราบแล้ว คาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการได้ในเร็วๆนี้” พล.อ.ดรัณกล่าว
พล.อ.ดรัณกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการชดเชยผู้โดยสาร ผู้โดยสารที่ใช้เหรียญโดยสาร (Token) บริษัทดำเนินการรับแลกเหรียญและคืนเงินให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บัตรสมาร์ทพาสแตะเข้าระบบและออกก่อนถึงที่หมาย ให้ผู้โดยสารนำบัตรมาตรวจสอบข้อมูลการเข้าออกได้ที่เจ้าหน้าที่ทั้ง 8 สถานี เพื่อขอรับคูปองเดินทาง 1 เที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับเงื่อนไขอื่นๆบริษัทจะชดเชยให้เดินทางฟรี 1 เที่ยวในทุกกรณี ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลผู้โดยสารที่เป็นลม บริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ขณะที่นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้าบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เผยว่า หลังไฟดับระบบสำรองไฟในขบวนรถทำงาน แต่ปริมาณไฟใช้ได้เฉพาะการทำงานของพัดลมระบายอากาศในตัวรถ เครื่องปรับอากาศไม่สามารถใช้งานได้ หลังจากเกิดเหตุรีบส่งขบวนรถเข้าไปลากรถขบวนที่ติดอยู่บนรางเข้าไปยังสถานี ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อขบวนรถมาเทียบรถที่จอดเสียอยู่กำลังจะลาก ผู้โดยสารที่ติดอยู่ในขบวนจำนวนมากได้เปิดประตูรถเดินออกมาก่อน ทำให้ระบบหยุดอัตโนมัติตามระบบความปลอดภัยปกติ ต้องยอมรับว่ามีคนติดอยู่จำนวนมากประมาณ 800 คน เพราะเป็นช่วงเช้าที่คนไปทำงาน ทำให้อากาศในรถค่อนข้างน้อย จากการตรวจสอบพบว่า มีคนเป็นลมประมาณ 3-4 คน ตามปกติระบบสำรองไฟจะทำให้พัดลมระบายอากาศทำงานได้แค่ 20-30 นาที แต่กรณีนี้ไฟฟ้าดับนานกว่าครึ่งชั่วโมงทำให้ไฟสำรองหมด พัดลมดับ อากาศไม่มี ผู้โดยสารทนไม่ไหวเปิดประตูออกมา
นายสุเทพกล่าวยอมรับว่า การนำขบวนลากรถไปช่วยผู้โดยสารใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตามมาตรฐานแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้ แต่ตนมองว่านานเกินไป ต่อจากนี้ต้องกลับไปปรับปรุงมาตรฐานการซ้อมแผนฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องลดระยะเวลาการเข้าถึงพื้นที่ให้เหลือ 20 นาที ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร รวมทั้งต้องหารือและสอบถามข้อเท็จจริงกับการไฟฟ้านครหลวงถึงสาเหตุไฟดับ หรือไฟตกในช่วงนี้ว่าเกิดจากอะไร เพราะเกิดบ่อย และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินรถ ปกติเวลาเกิดปัญหาไฟตกหรือขัดข้องขบวนรถจะไม่หยุดนิ่ง เพราะจะมีแรงเฉื่อยทำให้ขบวนรถวิ่งต่อได้อีกระยะ แต่กรณีนี้เป็นกรณีปัญหาเนื่องจากจุดที่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นช่วงที่เรียกว่า นิวตรอนโซน คือช่วงที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบ ทำให้ขบวนรถหยุดนิ่งนาน
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เผยว่า กรณีที่บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) อ้างว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ร.ฟ.ท.ขอชี้แจงว่า พร้อมสนับสนุนและให้อิสระในการจัดซื้อจัดจ้างกับ รฟฟท.มาโดยตลอด เพื่อความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ขอชี้แจงว่า 1.ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบอำนาจจัดซื้อจัดจ้างให้กับ รฟฟท.ตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 4 มิ.ย.56 ในวงเงินของผู้ว่าการ คือ วิธีสอบราคา ประกวดราคากรณีพิเศษวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนวิธีพิเศษวงเงินไม่เกิน 25 ล้านบาท หากวงเงินเกินแอร์พอร์ตลิงก์ต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการรถไฟฯพิจารณา
“2.เหตุการณ์วันนี้ คาดว่าเกิดจากการจัดซื้อระบบไฟฟ้าสำรองของ รฟฟท. ซึ่งเสนอมาที่การรถไฟฯตามหนังสือลงวันที่ 4 มี.ค.59 ขออนุมัติจัดซื้อเครื่องจ่ายไฟฟ้ากำลังต่อเนื่องโดยวิธีพิเศษเร่งด่วน วงเงิน 32,114,552.00 บาท วงเงินเกินอำนาจผู้ว่าการรถไฟฯ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการรถไฟฯ แต่รายงานของ รฟฟท.มีเอกสารไม่สมบูรณ์ตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ 2544 คณะอนุกรรมการฯจัดซื้อจัดจ้างประชุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค.59 ให้ รฟฟท.ไปดำเนินการให้ครบถ้วนตามระเบียบแล้วเสนอใหม่ 3.เพื่อให้เกิดความคล่องตัวการจัดซื้อจัดจ้างตามกรอบวงเงินอำนาจของคณะกรรมการรถไฟฯ ผู้ว่าการการรถไฟได้แจ้งต่อผู้แทน รฟฟท. เมื่อวันที่ 9 มี.ค.59 ให้รวบรวมรายการที่เกินวงเงินที่ได้รับมอบอำนาจ สำหรับงบประมาณในปี 58 และ 59 เสนอต่อคณะกรรมการรถไฟฯในคราวเดียว และ 4.ขณะนี้ รฟท.ยังไม่ได้รับรายงานกรณีรถไฟฟ้าขัดข้อง คณะกรรมการรถไฟฯจะประชุมในวันที่ 29 มี.ค.59 รฟท.จะประสานแจ้งให้นำเสนอให้ทันในการประชุมครั้งนี้” ผู้ว่าการ รฟท.กล่าว
ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากระบบไฟฟ้า ปกติระบบขนส่งมวลชนจะต้องรับไฟฟ้าจาก 2 แหล่งเพื่อป้องกันปัญหา ขณะเดียวกันต้องมีระบบไฟสำรอง (ยูเอสบี) ที่พบว่า มีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร รวมทั้งต้องทบทวนแผนฉุกเฉินการช่วยเหลือผู้โดยสาร ทราบว่า รฟฟท.เสนอขออนุมัติงบประมาณจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เพื่อขอจัดซื้อระบบไฟสำรอง เชื่อว่าบอร์ด ร.ฟ.ท.จะพิจารณาเห็นชอบ ส่วนการจัดหาขบวนรถไฟอีก 7 ขบวนต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ขบวนรถที่ให้บริการขณะนี้มี 8 ขบวน และอีก 1 ขบวนจะสลับเพื่อนำไปสู่การซ่อมบำรุง จึงให้บริการได้อย่างเพียงพอ
แสดงความคิดเห็น