นครศรีธรรมราช หัวเมืองใหญ่ทางภาคใต้ เมื่อก่อนไปทีไร เป็นต้องวอกแวกเข้าป่า ขึ้นเขาหลวง น้าน...นาน ถึงจะมีโอกาสเข้าถึงตัวเมืองสักครั้ง ถ้าไม่นับว่าต้องไปขึ้นรถทัวร์ที่ขนส่ง จะว่าไป นอกจากป่าเขาที่สวยงาม ในความเป็นเมืองก็น่าสนใจไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ยิ่งกรมท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เขาจัดให้ที่นี่เป็นเมืองน่าเที่ยว "สามธรรม" เลยต้องแวะเวียนมาเที่ยวอีกสักครั้ง ไปถึงเมืองคอน ก่อนออกนอกเมือง ก็ต้องแวะ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กันเสียก่อน วัดนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของ พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองเท่านั้น แต่ยังได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ช่วงนี้ใครไปวัดพระมหาธาตุ จะเห็นว่ากำลังมีการปรับภูมิทัศน์ เป็นลานทรายด้านหน้าก่อนเข้าไปในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ ตามความเชื่อดั้งเดิม ส่วนตัวองค์พระบรมธาตุที่บูรณะครั้งหลังสุด ไม่รู้ว่าทำอย่างไร กลายเป็นมีสีสนิมไหลลงมาจากยอดปลี ทั้งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ส่วนตัวเคยไปเห็นของเดิมก่อนหน้านี้ บอกได้เลยว่า เสียดายของเก่า จากตำนานระบุว่า พระบรมธาตุเจดีย์นี้ สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า) ผ่านการบูณะแต่ละยุคสมัย จนเป็นองค์พระบรมธาตุแบบทรงลังกาเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร ปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม แต่ยามที่แสงแดดตกกระทบ เงาพระบรมธาตุกลับทอดไม่ถึงพื้น จนเรียกขานกันว่า "พระธาตุไร้เงา" ส่วนรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ล้อมด้วยเจดีย์ราย 149 องค์ และบริเวณผนังทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูป 173 องค์ ออกจากวัดพระมหาธาตุนครศรีฯ ไปตามหาของดีขึ้นชื่อเมืองคอน คือ เครื่องถมและหนังตะลุง นั่นเอง จริงๆ
ด้านข้างฝั่งวัดยังเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีร้านเครื่องเงิน เครื่องถม มากมาย แต่ถ้าจะไปให้ถึงแหล่งทำเครื่องถม เครื่องเงินฝีมือชั้นบรมครู ต้องข้ามถนนไปอีกฝั่ง เลี้ยวเข้าถนนสระเรียงไปไม่ไกล ก็ถึง "นครหัตถกรรม" ซึ่งเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และชมรมผู้ผลิตเครื่องถมเมืองนคร ของ ครูนิคม นกอักษร เครื่องถมเมืองคอนได้ชื่อว่า เป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูง ที่ถ่ายทอดเชิงช่างกันมาแต่โบราณ ซึ่งครูนิคม ได้ชื่อชั้นเป็นหนึ่งในครูช่างถมเมืองนครฝีมือชั้นยอด โดยเฉพาะ‘ถมตะทอง’ ที่มีความประณีตงดงาม วิธีทำละเอียดซับซ้อน และต้องอาศัยฝีมือเชิงช่างชั้นครู ปัจจุบันกลายเป็นของหายากเพราะมีช่างน้อยคนนักที่จะทำได้ ลายไทยอ่อนช้อยตวัดคมบนแหวนเงินวงเล็ก หรือกำไล อย่างสวยงาม ลงน้ำยาถมสีดำ สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของช่างถมเงินคนนี้ และแม้จะไม่ได้เป็นครูสอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช แต่ก็ยังถ่ายทอดวิชาช่างถมให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้สืบทอดภูมิปัญญาต่อไป วันนั้นที่แวะไป เลยได้แหวนเงินสวยๆ กำไลงามๆ ติดนิ้ว ติดข้อมือกลับบ้านกันไป อย่างว่าล่ะ ผู้หญิงกับของสวยๆ งามๆ ใครจะอดใจอยู่ ออกจากถนนหัตถกรรม ไปสุดทางอีกฝั่ง ตรงเข้าถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 ถึง "บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน" ครูหนังตะลุงฉายา"ฉลามดำ" และเป็นศิลปินแห่งชาติด้วย ครูสุชาติอายุ 77 ปีเข้าไปแล้ว (เกิดเมื่อ 2 กรกฎาคม 2481)
ประกอบกับมีโรคประจำตัว จึงหยุดพักการเล่นหนังตะลุงไป ให้ครูวาที ทรัพย์สิน ลูกชายมารับงานสืบทอดต่อไป บริเวณบ้านหนังตะลุงสุชาติ จึงเป็นทั้งที่พัก มีโรงหนังตะลุงขนาดเล็ก ซึ่งใช้เป็นสถานที่ให้ความรู้สำหรับผู้มาเยือนและเชิดหนังตะลุง และอีกส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง ที่เก็บรวบรวมหนังตะลุงแต่ละภาค ยุคสมัยต่างๆ และหนังตะลุงนานาชาติ แล้วยังมีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน จัดแสดงให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ บ้านหนังตะลุงสุชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวดีเด่น ประเภทวัฒนธรรมและโบราณสถาน ในปี 2539 แล้วยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และนันทนาการในปี 2552 และรางวัลอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เหนืออื่นใด ครูสุชาติยังได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ในปี 2549 ด้วยความรู้ ความสามารถ และการอนุรักษ์งานด้านหนังตะลุง ครูวาทีเล่าว่า เมื่อก่อนคนแถวบ้านไม่รู้ว่ามีพิพิธภัณฑ์ แต่เห็นมีชาวต่างชาติแวะมาเรื่อย จนตามมาดูถึงได้รู้ แล้วก็มีการบอกกันไป ครูก็มักนำลูกศิษย์มาเรียนรู้ที่นี่ หรือบางครั้งคนทั่วไป ก็มาขออยู่เรียนรู้การทำหนังตะลุงก็มี "หนังตะลุงต้องมีมุก ปฏิภาณความรู้ ควบคู่ไปกับความบันเทิง ไม่ว่าจะเล่นเรื่องอะไรจะต้องรู้เรื่องนั้นอย่างดี เช่นเรื่องประมงก็ต้องรู้ช่วงเวลาออกเรือ หยุดเรือ คลื่นลม ที่สำคัญนายหนังต้องมีไหวพริบ มีเสียงดี หนังตะลุงที่เป็นปราชญ์จะต้องชี้นำสังคมได้ เป็นตัวแทนในการบอกกล่าวนโยบายและสะท้อนปัญหา" ครูวาที บอกถึงหัวใจสำคัญของการเชิดหนังตะลุง ทั้งยังบอกด้วยว่า หนังตะลุงมีการจัดเรตติ้งมาก่อนที่ภาพยนตร์หรือละครจะมีเรตติ้งเสียอีก
ช่วงหัวค่ำจะเล่นเรื่องทั่วไปเพราะมีเด็กๆ ดู แต่หลังเที่ยงคืนไปแล้วก็อาจจะมีเรื่องทะลึ่ง สองแง่สามง่ามบ้าง เอกลักษณ์ของหนังตะลุงครูสุชาติอีกอย่างคือ ยังแสดงแบบอนุรักษ์ด้วยการใช้ดนตรี เครื่องห้า ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลองตุ๊ก และปี่ ว่าแล้วครูวาทีก็ลองเล่นให้ดูเป็นตัวอย่าง จนนึกทึ่งกับไหวพริบของครูวาทีจริงๆ ออกจากตัวเมืองคอน ไปสัมผัสธรรมชาติสวยงาม สูดโอโซนบริสุทธิ์เชิงเขาหลวง ที่ หมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา ก่อนกลับบ้านเสียหน่อย นี่ซินะเป็นธรรมที่ 3 ของเมืองคอน "ธรรมชาติ" ที่เลือกไปบ้านคีรีวง เพราะได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ที่อากาศบริสุทธิ์ที่สุดในประเทศไทย จากการตรวจวัดในปี 2552 สุดทางรถที่ริมธารน้ำที่ไหลทอดลงมาจากเขาหลวง สำหรับคอเดินป่า จะรู้ดีว่าที่นี่เป็นเส้นทางขึ้นสู่ยอดสูงสุดของเทอกเขาหลวง ซึ่งมีระดับความสูง 1835 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชาวบ้านทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติ ด้วยการทำสวนผลไม้ ปลูกผสมปนเปไปกับต้นไม้พื้นถิ่น เรียกกันว่า สวนสมรม ผลไม้ขึ้นชื่อแถวนี้มีมังคุด ลองกอง และทุเรียน
บริเวณหมู่บ้านเอง มีกิจกรรมเป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าพื้นบ้าน สมุนไพร ศูนย์ผ้ามัดย้อมที่ขึ้นชื่อ คีรีวงยังเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประจำปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน ฉันแวะสวนลุงเขียว เพราะได้ข่าวว่ามีปลาพลวงเยอะ ไปแวะก็เห็นเยอะจริงๆ ลุงเขียวบอกว่าทำเรื่องขออนุรักษ์พันธุ์ปลา มาเรียบร้อย ก็ปล่อยเลี้ยงไว้ จนทุกวันนี้กลายเป็นวังปลาไปแล้ว ด้านบนธารน้ำเหนือวังปลา มองเห็นทิวเขาหลวงไม่ไกลนัก แต่เชื่อเถอะเดินกันเป็นวันๆ เพียงเสี้ยวหนึ่งของเมืองคอน ก็เห็นภาพของเมืองสามธรรมขึ้นมาเลาๆ คือเป็นเมืองที่มีทั้งธรรมมะ มีศิลปวัฒนธรรมที่เลอค่า และยังมีธรรมชาติที่สวยงาม จนไปแล้วไปอีกได้ไม่รู้เบื่อ
แสดงความคิดเห็น