สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ว่า เจ้าหน้าที่ทางการและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกา เรียกร้องต่อประชาชนชาวอเมริกัน ให้คว่ำบาตรเลิกซื้อปลาและกุ้ง ที่จัดส่งโดยบริษัทอาหารทะเลในประเทศไทย หลังจากรายงานผลการตรวจสอบของสำนักข่าวเอพี ระบุว่า มีการบังคับใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย
นายคริส สมิธ ส.ส.พรรครีพับลิกัน จากเขต 4 รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในฐานะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า ชาวอเมริกันอาจจะพบตนเองกำลังรับประทานผลิตภัณฑ์ ที่มาจากฝีมือของแรงงานทาสโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อรู้แล้วเขาเชื่อว่าประชาชนทุกคนควรมีหน้าที่ทางจริยธรรม ด้วยการตัดสินใจเป็นส่วนตัว ในการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์เหล่านี้
ส่วนนายมาร์ค ลากอน ประธานกลุ่ม ฟรีดอม เฮาส์ กล่าวว่า การบังคับใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมงของไทย ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี ถือเป็นการกระทำทารุณต่อเพื่อนมนุษย์อย่างโจ่งแจ้ง และชาวอเมริกันไม่อาจยอมรับได้
รายงานของเอพีเมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค.) ระบุว่า การตรวจสอบพบการใช้แรงงานทาส ซึ่งแรงงานถูกบังคับให้แกะเปลือกกุ้งในไทย บางครั้งนานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยได้รับค่าจ้างน้อยหรือไม่ได้รับเลย และแรงงานจำนวนมากถูกกักขังอยู่ภายในโรงงาน นานหลายเดือนหรือหลายปี
บันทึกของหน่วยศุลกากรสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า กุ้งจากไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของห้างค้าปลีกและบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เช่น วอลมาร์ท โครเกอร์ ดอลลาร์ เยเนอรัล และเพทโก รวมทั้งเครือข่ายร้านอาหาร เช่น โอลีฟ การ์เดน นอกจากนั้นยังเข้าสู่โซ่อาหารของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอาหารสัตว์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐ รวมถึง ชิคเกนออฟเดอะซี และแฟนซีเฟสต์ ซึ่งมีวางจำหน่ายในห้างต่างๆ เช่น เซฟเวย์ พิกกี วิกลี และแอลเบิร์ตสัน
ผู้สื่อข่าวของเอพีทำการสำรวจ ในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตในทุก 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา พบผลิตภัณฑ์กุ้งจากห่วงโซ่อาหารที่ปนเปื้อนแรงงานทาส
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายงานของเอพีดังกล่าว แต่หลายบริษัท เช่น เรด ล็อบสเตอร์ โฮล ฟู้ดส์ และอื่นๆ กล่าวว่า พวกเขาได้รับการรับประกันจากบริษัทผู้จัดส่งอาหารทะเลของไทย คือกลุ่มบริษัท ไทย ยูเนี่ยน ว่า กระบวนการแปรรูปกุ้งของกลุ่มไทย ยูเนี่ยน ไม่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาส
ขณะเดียวกันกลุ่มไทย ยูเนี่ยน ยอมรับว่า บริษัทไม่รู้แหล่งที่มาของกุ้งของบริษัททั้งหมด โดยบริษัทได้ส่งข้อความสรุปมาตรการแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงกลุ่มธุรกิจในสหรัฐ ในแถลงการณ์ของ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กลุ่มไทย ยูเนี่ยน ซึ่งระบุว่า กลุ่มไทย ยูเนี่ยน มีความกังวลต่อรายงานดังกล่าว และแม้จะมีการตรวจสอบอยู่เป็นประจำ แต่เป็นการยากที่จะรับประกันได้ว่า ผู้ดำเนินการก่อนภายนอก จะยึดมั่นต่อจรรยาบรรณของกลุ่มไทย ยูเนี่ยนหรือไม่
สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์ตอบโต้เรื่องราวของเอพี ระบุว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการต่อผู้ที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับกิจกรรมผิดกฎหมาย เพื่อรับประกันว่าห่วงโซ่อาหารทะเลของไทยปลอดจากการค้ามนุษย์และบังคับแรงงาน นอกจากนั้น รัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายกวาดล้าง การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และจะร่วมมือกับหุ้นส่วนนานาชาติและท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพิ่มการตรวจสอบ
รายงานของเอพี ระบุอีกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ในสหรัฐกล่าวว่า พวกเขายังยึดมั่นต่อผู้จัดส่งอาหารทะเลของไทย นายเกวิน กิบบอนส์ โฆษกสถาบันการประมงแห่งชาติ (เอ็นเอฟไอ) สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมอาหารทะเลประมาณร้อยละ 75 ทั่วสหรัฐ กล่าวว่า การคว่ำบาตรไทยไม่ใช่คำตอบ "ถ้าคุณไม่ซื้ออาหารทะเลจากไทย คุณจะไม่อยู่ในวงสนทนาอีกต่อไป เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน คุณจะไม่สามารถแก้ไข หรือผลักดันให้เปลี่ยนแปลง" กิบบอนส์ กล่าว
แต่ นายบัดดี แกเลตตี ประธานเซาท์วินด์ ฟู้ดส์ ผู้นำเข้าอาหารทะเลรายย่อยในลอสแองเจลีส กล่าวว่า หากวอลมาร์ท โครเกอร์ และเรด ล็อบสเตอร์ หยุดซื้อจากไทย เขาเชื่อว่าทางการไทยจะไม่มีทางเลือก นอกจากต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
ทางด้าน ซูซาน ค็อปเพดจ์ ทูตต่อต้านการค้ามนุษย์คนใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ลูกค้าควรหาข้อมูล และตรวจสอบจากเว็บไซต์ slaveryfootprint.org ที่รัฐบาลสนับสนุน และเอกสารของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ก่อนตัดสินใจควักเงินซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากแรงงานทาส.
แสดงความคิดเห็น