วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี© REUTERS/Chaiwat Subprasom วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมรายหนึ่ง ที่ได้รับทุนศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา จากมหาวิทยาลัยมหิดล แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่กลับมาใช้ทุนดังกล่าว ว่า ตนไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นว่าผู้ที่ได้รับทุนได้รับทุนอะไร แต่เข้าใจว่าทุนดังกล่าวเมื่อกำหนดให้มีคนค้ำประกัน ผู้รับทุนก็ต้องกลับมาใช้ทุน ซึ่งกรณีผู้รับทุนไม่กลับมาใช้ทุนเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี กพ.ได้หาวิธีแก้ปัญหา โดยห้ามผู้ค้ำประกันเป็นผู้บังคับบัญชา ครู อาจารย์ โดยเปลี่ยนให้คนในครอบครัวผู้รับทุนเป็นผู้ค้ำประกันแทน
"อย่างไรก็ตาม กรณีลักษณะนี้คล้ายกับการเป็นหนี้ทั่วไป หากลูกหนี้ไม่จ่าย ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบ แต่กรณีนี้ผู้ค้ำประกันสามารถทำเรื่องขอผ่อนผันการชำระกับ กพ.หรือกระทรวงการคลังได้ ซึ่งจากเดิมเรื่องขอผ่อนผันต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะถูกยกเลิกไปในช่วง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาได้เอง" นายวิษณุ กล่าว
เหยื่อหมอหนีทุนเผยต้องชดใช้ 2 เเสน - 2 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระแสต่อต้าทันตแพทย์หญิงอดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประกาศไม่กลับประเทศไทยและไม่ชดใช้ทุนการเรียนต่อในต่างประเทศ ได้เริ่มไปแพร่หลายถึงบนเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวได้ไปทำงานอยู่ในฐานะนักวิจัยแล้ว และสังคมออนไลน์เริ่มเจาะข้อมูลเกี่ยวกับบ้านพัก รายได้ รถยนต์ของสามีและทันตแพทย์หญิงที่สหรัฐอเมริกาแล้ว 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.00 น. 1 ใน 4 คนค้ำทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว กล่าวผ่านรายการเก็บตกจากเนชั่น ทางเนชั่นทีวีว่า เดิมนั้นพวกตน 4 คนต้องชดใช้เงิน 30 ล้านบาทเพราะต้องจ่ายสามเท่าที่ทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวใช้ แต่พวกตนไปขอศาลว่า ขอจ่ายเฉพาะเงินที่ใช้จ่ายจริงคือ 7-8 ล้านบาท แต่ตนค้ำเฉพาะเงินเดือนจึงจ่ายเงินชดใช้น้อยกว่า 3 คน คือตนจ่าย 2 แสนบาท แต่คนอื่นต้องจ่ายชดใช้ราว ๆ 2 ล้านกว่าบาท/คน เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่ คือค่าใช้จ่ายช่วงเรียน
“เมื่อปี 2536 พวกเราไม่ทราบปัญหาทางกฎหมาย เพราะตอนนั้นเราอายุน้อย และมีรายได้น้อย เซ็นค้ำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พวกเราได้ต่อรองกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งศาลด้วย แต่ละฝ่ายใช้เวลาตอบกลับนานมาก แต่ก็ดำเนินการมาเรื่อย ๆ โดยในเดือน ม.ค.นี้มีหมายศาลว่า ต่ออายุไม่ได้แล้ว ต้องจ่ายชดเชยในเดือน กพ.นี้ โดยตนใช้เงินส่วนตัวที่เป็นเงินเก็บสะสมมาชดใช้ แต่บางคนต้องกู้มาชดใช้ เพราะหากไม่จ่ายจะโดนยึดทรัพย์ เพราะตอนนั้นทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวเป็นข้าราชการที่ร่วมงานกัน และพวกเราอยากเห็นว่าการเรียนต่อนั้น มันเป็นประโยชน์ จึงไม่ปฏิเสธการค้ำประกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่มีเพดานว่าจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเท่าใด เพราะค้ำประกันยาวจากปริญญาโท-เอก เมื่อไม่จ่าย วงเงินจึงสูงมาก เพราะไม่ทราบว่า หากเบี้ยวไม่ชดใช้ทุน พวกเราจะชดใช้เท่าใด” 1 ใน 4 ผู้ชดใช้เงินกล่าว
1 ใน 4 ผู้ชดใช้เงินกล่าวอีกว่า ตอนแรกเมื่อได้หมายศาลก็งงว่า ทำไมเงินชดใช้เยอะเกือบ 30 ล้านบาท สมมติว่า ต้องชดใช้ 2 ล้านบาท เงินหมอคนหนึ่งคือ 4 หมื่นบาท แต่ต้องใช้หนี้แทน ต้องใช้เวลา 5 ปีใช้หนี้ โดยไม่มีสิทธิใช้เงินเดือนของตัวเองเลย ตนเชื่อว่าทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวมีรายได้เยอะมาก แต่แปลกใจที่ไม่ยอมใช้หนี้ ตนค้ำประกันให้เมื่อตอนนั้นเป็นครั้งแรกและค้ำให้ทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวเป็นคนแรก หากรู้แบบนี้คงไม่ค้ำประกันให้
ส่วนการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นก็มีบ้างบางส่วน และรอข้อตกลงหลักจากมหาวิทยาลัยก่อน ส่วนการติดติดต่อทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวนั้นเคยติดต่อได้เมื่อสิบปีที่เล้ว และบางคนเดินทางไปพบที่อเมริกาแต่ทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวก็ไม่มาให้พบตัว
“ที่ผ่านมาก็มีคนเดือดร้อนแบบนี้แต่วงเงินไม่มากเท่ากรณีของพวกตน แต่ช่วงหลังมีกฎให้พ่อ-แม่ค้ำประกัน ผู้ขอทุนไปเรียนแทน ทำให้มีความรัดกุมขึ้น”
จี้ฝ่ายกม.-มหิดลแจงตามหนี้
นายเผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์อยู่คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี 1 ใน 4 ผู้ค้ำประกัน กล่าวว่า ประมาณปี 2547 อาจารย์หญิงคนดังกล่าวได้แจ้งมายังมหาวิทยาลัย ในฐานะต้นสังกัด ขอยกเลิกที่จะกลับมาทำงานใช้ทุนคืน เพราะมีครอบครัวที่นั่น เมื่อกระทรวงการคลังเร่งรัดมาที่มหาวิทยาลัยในฐานะต้นสังกัด จึงต้องไปติดตามจากผู้ค้ำประกันว่าในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยมหิดลควรจะมีการติดตามอย่างจริงจังและถึงที่สุดอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้อาจารย์คนดังกล่าวมาใช้ทุนคืน
“เท่าที่ดูจากการชี้แจงของมหาวิทยาลัยมหิดลผ่านสื่อระบุว่า ได้รับแจ้งมาตั้งแต่ปี 2547 ว่าจะไม่มาใช้ทุนคืน อยากจะตั้งคำถามว่า ฝ่ายกฏหมายมหาวิทยาลัยมีการติดตามทวงหนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยมหิดลก็อนุมัติการลาออกของอาจารย์คนดังกล่าวตามเอกสารที่ก็ยื่นทางแฟ็กซ์ เพราะหลังจากที่มีการแชร์ข้อความดังกล่าวไปในโลกโซเชียล ทำให้ได้รับข้อมูลว่า พ่อ แม่ ของอาจารย์หญิงคนดังกล่าว แยกทางกัน และเมื่อเดือน กพ.2558 อาจารย์หญิงคนดังกล่าวได้กลับมางานศพแม่ที่ประเทศไทย และได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย หากฝ่ายกฏหมายมหาวิทยาลัยมหิดล มีการประสานกับสถานกงสุล หรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือแจ้งความไว้ว่าอาจารย์คนนี้เบี้ยวหนี้ 10 ล้านก็น่าจะมีวิธีการที่จะติดตามได้คืน เพราะการเป็นทันตแพทย์ที่ต่างประเทศค่าตอบแทนมันมากพอที่จะจ่ายทุนคืนได้ก่อนที่จะครบกำหนดชำระหนี้เมื่อเดือน ก.พ.2559 " นายเผด็จ กล่าว
ทั้งนี้ตามระเบียบกรณีไม่ทำงานใช้ทุนจะต้องจ่ายเงินคืน 3 เท่าจากทุนที่ได้รับ 10 ล้านบาท หรือจำนวน 30 ล้านบาท ซึ่ง ศ.นพ.บรรจง ชี้แจงว่ามหาวิทยาลัยไม่นิ่งนอนใจให้การช่วยเหลือ เจรจาต่อศาลเพื่อขอลดหย่อนเงินที่ต้องชดใช้คืนให้กับรัฐบาล เหลือจำนวนเท่าเงินทุน 10 ล้านบาท
นายเผด็จ อธิบายว่า จริง ๆ แล้วตามกฏหมาย หากผู้ค้ำไม่ใช่ญาติพี่น้อง ก็ให้ชดใช้แค่เพียงเงินต้น 
“จริง ๆ แล้วผมจบ มอ. มาเรียนต่อมหิดแค่ปีเดียว ตอนที่เซ็นคำประกันก็ไม่ได้รู้จักกับอาจารย์ที่มาชวนให้ค้ำประกัน แต่คิดว่าทำเพื่อประเทศชาติให้คนเก่งไปเรียนเมืองนอกกลับมาจะได้ทำประโยชน์ก็เซ็นไป แต่อีก 3 คนก็เป็นอาจารย์ทำงานที่มหิดลกันหมด ใกล้เกษียณคนหนึ่ง อีก 2 คนก็เป็นอาจารย์สถาบันเดียวกัน ในจำนวนนี้มีคนหนึ่งเป็นเพื่อนอาจารย์คนที่หนีทุนด้วย อยากถามมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ทำแบบนี้มันยุติธรรมกับพวกเราทั้ง 4 คนมั้ย เงิน 2 ล้านไม่ใช่น้อย ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาทำงานให้กับมหาวิทยาลัย เซ็นค้ำประกันเพื่อให้ไปเรียนกลับมาทำงานให้สถาบัน แต่อาจารย์หนีทุน มหาวิทยาลัยก็มาใช้พวกเขาจ่ายเงินเแทนอีก ทั้ง ๆ ที่ควรจะเอาเงินคืนจากคนที่ได้ประโยชน์มันถึงจะถูกต้อง ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามกับฝ่ายกฏหมายและสถาบันการศึกษาแห่งนี้ถึงการดำเนินการติดตามหนี้ดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพ หรือมีวิธีการดำเนินการอย่างไร อยากเห็นการชี้แจงที่ชัดเจน" นายเผด็จ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 มค.ที่ผ่านมา ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ได้ออกมาชี้แจงว่า เมื่อปี 2536 มหาวิทยาลัยได้เสนอชื่ออาจารย์หญิงคนดังกล่าว เพื่อขอเข้ารับทุนจากรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนเก่ง เรียนดี และมองว่าจะสามารถกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศได้ ซึ่งตามกระบวนการแล้วการขอทุนจากรัฐบาลก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด คือเมื่อเรียนจบกลับมาต้องชดใช้ทุน โดยทำงานให้หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยมหิดล และเพราะในตอนขอทุนรัฐบาลนั้น อาจารย์หญิงคนดังกล่าวนั้นเพิ่งเรียนจบและทำงานได้เพียง 1 ปีจึงต้องมีผู้คำประกันให้ 
ต่อมาประมาณปี 2547 อาจารย์หญิงคนดังกล่าวได้แจ้งมายังมหาวิทยาลัย ในฐานะต้นสังกัด ขอยกเลิกที่จะกลับมาทำงานใช้ทุนคืน เพราะมีครอบครัวที่นั่น แล้วปฏิเสธที่จะกลับมาทำงานและใช้ทุนคืน เมื่อกระทรวงการคลังเร่งรัดมาที่มหาวิทยาลัยในฐานะต้นสังกัด แต่เมื่อติดต่อไม่ได้ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ประสานและติดตามไปยังผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายชดใช้แทน โดยมหาวิทยาลัยไม่นิ่งนอนใจให้การช่วยเหลือ เจรจาต่อศาลเพื่อขอลดหย่อนเงินที่ต้องชดใช้คืนให้กับรัฐบาล เหลือจำนวนเท่าเงินทุน 10 ล้านบาท

แสดงความคิดเห็น

 
Top