กรณี พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.น. มีคำสั่งไปยัง รรท.ผบก.1-9 ให้ตรวจสอบพร้อมกับตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีผู้กำกับการสถานี (ผกก.สน.) คนปัจจุบันและในอดีตมีพฤติการณ์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์บนที่ราชพัสดุด้วยการติดตั้งจอแสดงภาพ และป้ายโฆษณาแต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอมและมีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอมแต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบทางราชการ มีนายตำรวจระดับ ผกก.สน. ถูกตั้งกรรมการสอบทั้ง 2 กรณี ร่วม 50 นาย และมีนายตำรวจระดับ รอง ผกก. ถึงสารวัตรอีกจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องด้วยนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบป้ายโฆษณาและจอแสดงภาพตามแยกต่างๆ นั้นพบว่า บางแห่งมีการปิดการใช้งานแล้ว แต่บางแห่งยังมีการเปิดฉายโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและงานต่างๆ อยู่
โดยพบว่าขนาดของป้ายหรือจอแสดงภาพแต่ละแห่ง มีขนาดที่เล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไปและมีบริษัทที่เป็นเจ้าของป้ายอยู่ 3-4 แห่งด้วยกัน และเมื่อมีการสอบถามถึงการสืบสวนข้อเท็จจริงตาม รรท.ผบก. ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในชั้นนี้
ผกก.นายหนึ่งซึ่งถูกตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้อธิบายไว้ว่า เรื่องดังกล่าว เป็นคำสั่งและได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาใน บช.น.คนเก่า ซึ่งได้ทำสัญญากับบริษัทและทาง สน.เป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีการติดตั้งโดยพลการแต่อย่างใดและอยากให้ทางผู้บังคับบัญชาให้ความเป็นธรรมกับเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย
นายกฤษฎา กลันทานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรณีการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ รวมทั้งบนป้อมตำรวจนั้นเป็นการติดป้ายโฆษณาที่ต้องมีการแจ้งขออนุญาตกับทางสำนักงานเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องที่เพราะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับป้ายทั้งในส่วนของความมั่นคงแข็งแรงและเป็นป้ายโฆษณาที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งทางเขตเจ้าของพื้นที่ กทม. ทั้ง 50 เขต จะต้องไปตรวจสอบดูว่าเป็นป้ายที่ขออนุญาตหรือมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะต้องมีการแจ้งให้รื้อถอนออกไป
รายงานข่าวจากศาลาว่าการ กทม. แจ้งว่า ที่ผ่านมาการติดตั้งป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจ เอกชนจะหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไปทำความตกลงกับตำรวจและไม่มีการแจ้งให้กับทางสำนักงานเขตทราบ
โดยอ้างว่าเพื่อการประชาสัมพันธ์รณรงค์วินัยจราจรหรือประชาสัมพันธ์งานของทางราชการตำรวจ แต่ในข้อเท็จจริงเป็นการแอบ แฝงโฆษณา ที่ผ่านมามีการติดตั้งโครงบนป้อมตำรวจจากป้ายโฆษณาโครงแข็งแบบปกติและภายหลังก็มีการดัดแปลงเป็นป้ายจอแอลอีดีซึ่งนอกจากอาศัยโฆษณาโดยไม่เสียภาษีแล้ว ป้ายเหล่านี้ยังให้แสงสว่างจ้ารวมทั้งโครงสร้างการติดตั้งก็ไม่เป็นตามมาตรฐานเพราะเป็นป้ายเถื่อนรบกวนสายตาผู้ขับขี่รถ และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหากเกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง
ที่ผ่านมาเมื่อเป็นส่วนของตำรวจก็ทำให้เกิดความเกรงใจและทางสำนักงานเขตไม่เข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องรอทางด้านนโยบายจากผู้บริหาร กทม. ว่าเมื่อทางผู้บริหารระดับสูงของ บช.น. ออกมาเข้มงวดในเรื่องนี้แล้วทาง กทม. จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
สำหรับป้ายโฆษณาที่ติดตั้งตามอาคารจะต้องมีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนการเสียภาษีจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 โดยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับในอัตราป้ายละ 5,000-50,000 บาท
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รรท.ผบช.ภ.1 มีหนังสือด่วนไปยัง ผบก.จังหวัดทุกแห่งในสังกัดและ ผบก.อก.ภ.1 ให้ตรวจสอบในพื้นที่สถานีตำรวจแต่ละแห่งว่ามีการนำพื้นที่ของทางราชการไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการเข้ามาหาผลประโยชน์ที่ผิดต่อระเบียบและกฎหมายหรือไม่โดยให้รายงานผลให้ทราบภายใน 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนดังเช่นในพื้นที่ บช.น. ในขณะนี้.
แสดงความคิดเห็น