“ช่องเขาขาด” หรือ “ช่องไฟนรก” ฟังแล้วดูน่ากลัวเพราะมีความจริงซ่อนอยู่ในอดีตที่ผ่านมา ตอนนี้สร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 64–65 บนทางหลวง 323 สายกาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ
จากแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่เหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว ปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลออสเตรเลีย ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นได้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
ณ ช่องเขาขาด ร่องรอยประวัติศาสตร์ และธรรมชาติที่แสนสงบ
ภายในบริเวณมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปยัง ช่องเขาขาด ซึ่งเป็นสวนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะที่เชลยศึกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัดเจาะภูเขาหินด้วยมือปราศจากเครื่องมืออันทันสมัย ให้เป็นช่องสำหรับสร้างทางรถไฟไทย-พม่า (เส้นทางรถไฟสายมรณะ) ปัจจุบันยังมีร่องรอยของทางรถไฟปรากฏอยู่ของเส้นทางรถไฟ
ประวัติการขุดเจาะช่องเขาขาดเริ่ม ในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2486 ปรากฏว่างานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมีช่วงที่เร่งงานซึ่งเชลยศึกออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ทั้งหลายที่ถูกจับมาเป็นแรงงาน ต่างก็ต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน ใช้แรงคนในการสกัดภูเขาด้วยมือ ซึ่งเป็นการทำงานที่ทารุณยิ่ง เนื่องจากต้องปีนลงไปสกัดในช่องเขาซึ่งบางช่วงสูงถึง 11 เมตร จนแทบไม่มีอากาศหายใจทั้งยังต้องทำงานท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงเดือน มีนาคม
คำบอกเล่าจากอดีตเชลยศึกท่านหนึ่ง ที่บังเอิญได้พบในวันรำลึกเหตุการณ์ ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ เพราะการใช้แรงงานเชลยศึกในครานั้น ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร เมื่อเจ็บป่วยแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอต่อการพยาบาล ต้องดูแลกันตามมีตามเกิด มีทั้งเชลยที่ล้มป่วย และมีทั้งเชลยที่ต้องเสียชีวิตลง
ภาพของเชลยศึกและกรรมกรที่ช่องเขาขาดต้องทำงานตอนกลางคืนด้วยแสงไฟจากคบ เพลิงและกองเพลิงทำให้ สะท้อนให้เห็นเงาของเชลยศึกและผู้คุมวูบวาบบนผนัง ทำให้ที่นี่ได้รับการขนาน นามว่า… “ช่องไฟนรก”
กระนั้นแล้ว ที่นี่ก็เป็นที่ที่คนแวะมาเยือน รำลึกประวัติศาสตร์อยู่เป็นนิจ…
จากผลการโหวตของนักท่องเที่ยว “นับล้านคน” จากทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้คะแนนมากเป็นอันดับ 4 ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะด้วยเพราะพิพิธภัณฑ์นี้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ภายในบริเวณมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปยังช่องเขาขาด ทำให้ตรึงใจนักท่องเที่ยวได้มหาศาล
ธรรมชาติที่ปกคลุมเต็มสองข้างของช่องเขา ทำให้พื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งนี้ร่มรื่น และทำให้คนได้เดินชมประวัติศาสตร์แบบแอบอิงธรรมชาติ อย่างเย็นสบาย มีเรื่องราว ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยที่มีการสร้างทางรถไฟ แสดงเป็นหลักฐานให้คนได้ย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ยังไม่เคยมา เราแนะนำว่า ครั้งหนึ่งท่านต้องมาให้ได้
ในทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปี จะมีชาวต่างชาติ และคนไทยมากหน้าหลายตาเดินทางมาร่วมพิธีวันรำลึกถึงเชลยศึก ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกว่าวัน ANSAC DAY ซึ่งอาจเป็นบรรดาญาติพี่น้อง ครอบครัว และรวมถึงอดีตเชลยศึกชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายๆ ชาติ ที่รอดชีวิต ดอกไม้ แสงเทียน และพวงมาลา เป็นสิ่งแสดงความเสียใจ และแสดงความรำลึกนึกถึงการจากไปของผู้เป็นที่รัก ในเหตุการณ์ที่ตราตรึงของช่องเขาขาด ในครานั้น…
แสดงความคิดเห็น