ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จะพอมีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่มีอากาศแสนบริสุทธิ์ และทิวทัศน์ที่สวยงามเขียวชจี ที่พอจะรักษาอาการภูมิแพ้กรุงเทพฯได้บ้างหรือไม่….สงสัยจะต้องออกตามหา
เส้นทางมุ่งสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะผ่านดินแดนบ้านไร่ บนภูเขาแห่งหนึ่ง ที่ว่ากันว่า คือบ้านไร่ที่มีคนแวะเวียนไปมากที่สุด อยากรู้แล้วสิว่า ณ ที่แห่งนั้นจะมีอะไรซ่อนอยู่
เที่ยวโครงการชั่งหัวมัน ชิวลม ชมวิว ณ บ้านไร่ของในหลวง
ณ โครงการชั่่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ที่แห่งนี้นี่แหละ คือสถานที่ที่มีคนแวะเวียนไปชนิดที่ว่า หัวกระไดไม่เคยแห้ง และที่นี่ก็คือ บ้านไร่ของในหลวง
พื้นที่ ของโครงการชั่่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อยู่ในความดูแลของ กองทัพภาคที่ 1 ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ให้ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
ต้นกำเนิดของพื้นที่แห่งนี้ เริ่มขึ้นตอนที่ตอนพระองค์ท่านประทับอยู่ ณ วังไกลกังวลแล้วมีชาวบ้านนำมันเทศมาถวาย ช่วงนั้นพระองค์ต้องเสด็จกลับกรุงเทพเลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศ นั้นไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานจากนั้นก็เสด็จกลับกรุงเทพ
พอเวลาล่วงเป็นเดือน เมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศนั้นได้แตกใบ เลยตรัสว่า “มัน อยู่ที่ไหนก็ขึ้น” ดังนั้นจึงมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดิน เพื่อทำโครงการด้านการเกษตร
ที่ดิน จำนวนกว่า 250 ไร่ แต่เดิมที่แห่งนี้เป็นดินลูกรัง ปลูกไม้ยูคาลิปตัส พระองค์ทรงนำจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อจากชาวบ้านและทรงแสดงชื่อเป็น เจ้าของที่ดินในนามเกษตรกร และทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศ ซึ่งงอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้ที่ที่ดินแปลงนี้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
เนื้อที่ภายในโครงการกว้างสุดลูกหูลูกตา บนภูเขา มีลมโกรก เย็นสบาย และพื้นที่ทั้งหมดถูกจัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดี มีทั้งแปลงพืชเศรฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ
และก็ยังมีส่วนของกังหัน ผลิตไฟฟ้า มีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวยสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม ได้พักผ่อน นั่งเล่นตามซุ้มเงาร่มไม้ตามอัธยาศัย
งานในโครงการแห่งนี้ มีชาวบ้านสมัครมาเป็นลูกจ้าง คอยดูแลพืชพรรณ ฟาร์มสัตว์ และช่วยกันดำเนินงาน เหมือนเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านไปอีกทางหนึ่ง
มีคนเล่าว่า ที่ดิน ณ บ้านไร่ของในหลวง แห่งนี้ พอพระองค์ทรงซื้อมา และเป็นไร่ส่วนพระองค์และมีพระประสงค์ให้เป็นไร่ตัวอย่าง ก็มีหน่วยงานราชการซึ่งมีข้าราชการเก่งกาจประเภททำให้ “ดินพูดได้” และบริษัทเอกชน ร่วมพัฒนาที่ดินและทดลองปลูกพืชไร่นอกเหนือจากที่พระองค์ทรงปลูกไว้แล้ว โดยมีชาวบ้านบริเวณนั้นมาสมัครเป็นลูกจ้าง จนกระทั่งเจริญจนถึงทุกวันนี้
ถ้าใครคิดว่า “หัวมัน” นั้นไร้ค่า เป็นอาหารชั้นสอง ก็ลองมาฟังเรื่องจริงก็มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นเจ้าของเกียวโตแบงก์ ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากหัวมัน
เจ้าหน้าที่ของโครงการเล่าว่า ในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม การสู้รบยาวนานในสงครามทำให้ผู้คนในประเทศญี่ปุ่นอดอยากอยากแค้น เศรษฐีญี่ปุ่นเจ้าของธนาคารเกียวโตผู้นี้ในยุคนั้นก็เป็นชาวไร่ชาวนาที่ปลูก มัน แต่ความอดอยากทำให้เจ้าของที่ดินหลายรายในยุคนั้นเอาที่ดินมาแลกกับหัวมัน เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด
หลังสงครามที่ทุกอย่างสงบ จากชาวไร่ชาวนาธรรมดาที่ปลูกหัวมัน เจ้าของธนาคารเกียวโตผู้นี้ ก็เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นเจ้าของที่ดินมูลค่ามหาศาล และจากเจ้าของที่ดินก็กลายมาเป็นนายธนาคารที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ญี่ปุ่น
ใครจะรู้ว่า หัวมัน ที่ไร้ค่าก็สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ !!
ปัจจุบัน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริเปิดให้เข้าชมได้ โดยได้มีรถพานำชมทั่วไร่ตั้งแต่ 08.30 น. – 18. 00 น. นอกจากนี้ยังมีบริการจักรยานรองรับผู้เข้าชมและห้องชมวีดิทัศน์ของโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริจัดเตรียมไว้สำหรับให้ความรู้ด้านการเกษตร ซึ่งโครงการฯได้ขอความร่วมมือเก็บค่าบริการเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ ( อายุ 15 ปีขึ้นไป ) ท่านละ 20 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบคนละ 10 บาท
ส่วน พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นักบวช ผู้พิการ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ได้รับการยกเว้นค่าบริการ
พื้นที่ที่แสนกว้างขวางและร่มรืน เราสามารถเดินชม นั่งพักได้ทั้งวัน อย่างไม่มีเบื่อ…
บ้านไร่ของในหลวง ช่างสวยงาม และสร้างความสุขที่เปี่ยมล้น ให้ผู้ที่แวะมาชมเสียจริง
แสดงความคิดเห็น