กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'
"อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง...เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ"
เที่ยวทะเลหน้าฝน คงมีบ้างที่คุณต้องร้องเพลงรอจนกว่าฝนจะขาดเม็ด ทว่าเมื่อฟ้าเปิดทางให้แสงสว่างตัดผ่านความมืดครึ้ม ไม่ว่าแสงทอง สายรุ้ง หรือความสดใสก็เกิดขึ้นได้ในห้วงเวลานั้น นี่คือเสน่ห์ของหน้าฝนที่คนเดินทางหลายคนหลงรัก ไม่รังเกียจที่จะต้องพักรอ หรือแม้แต่นั่งมองทิวทัศน์อันพร่าเลือนหลังม่านน้ำเป็นเวลาเนิ่นนาน
เราเดินทางมาเมืองจันท์ ในวันที่ราชาราชินีผลไม้หายหน้าไปจากสวนแล้ว แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะแรงบันดาลใจให้ฝ่าฝนมาจากกรุงเทพฯ คือเส้นทางแสนสวยที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน Dream Destinations ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย "ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต"
ที่จริงถนนสายนี้มีระยะทางทั้งหมดกว่า 100 กิโลเมตร ลากยาวตั้งแต่ชลบุรี ผ่านแหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ไปจนถึงจันทบุรีและตราด บางส่วนเป็นทางหลวงเดิม และมีการสร้างเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมถนนเข้าด้วยกัน ให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลระดับสากลอย่างยั่งยืน (Scenic Route) แรกเริ่มเดิมทีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งใจจะแบ่งเบาปริมาณรถในถนนสุขุมวิท แต่ด้วยความที่เส้นทางหลายช่วงทอดยาวลัดเลาะริมทะเล ถนนสายรองจึงไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกแต่กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของบรรดานักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักปั่นทั้งหลาย
จุดเด่นที่อินเทรนด์ที่สุดของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต คือนอกจากจะมีช่องทางกว้าง ๆ สำหรับรถยนต์แล้ว ยังแบ่งที่่ว่างขนาดพอเหมาะให้จักรยานได้หมุนล้อชมวิวแบบชิล ๆ ซึ่งตลอดเส้นทางสายนี้มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวและร้านอาหารให้แวะพักทักทายคนท้องถิ่นเป็นระยะๆ แต่ถ้าถามถึงไฮไลท์แบบไม่ไปถือว่ายังไม่ได้มา เป็นที่รู้กันว่าคือโค้งถนนสวยๆ เลียบชายทะเลบริเวณหาดคุ้งวิมาน ที่หลายคนอาจจะผ่านตาจากโฆษณาหรือภาพถ่ายที่นักเที่ยวแชร์ต่อกันในโซเชียลมีเดีย
"ฝนตั้งเค้าอีกแล้ว..." ฉันฮัมเพลงนี้ในใจเมื่อมองท้องฟ้าเบื้องหน้า ขณะรถยนต์คันเก่ากำลังแล่นด้วยความเร็วไม่มากไม่น้อย...ร้อยนิดๆ บนถนนสุขุมวิท ผ่านชลบุรี ระยอง มาจนถึงจันทบุรี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และเสียโอกาสหากฝนเทลงมาอีกระลอก เมื่อมาถึงกม.ที่ 301 เราหักพวกมาลัยเลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 3399 ก่อนจะตรงไปจนถึงวงเวียนรูปปลาโลมา เพื่อเลี้ยวขวาไปยัง อ่าวคุ้งวิมาน ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางละเลียดทิวทัศน์บนถนนเฉลิมบูรพาชลทิต จากจุดที่ได้ชื่อว่า "สวยที่สุด"
คุ้งวิมาน แค่ชื่อก็ชวนฝันแล้ว หาดนี้เป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงหาดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี น้ำทะเลค่อนข้างใสสะอาด บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะกับการพักผ่อน พิกัดที่ตั้งอยู่ในอำเภอนายายอาม หากใครอยากจะลงเล่นน้ำทะเลแนะนำให้แวะ ตรงช่วงกลาง ๆ เพราะหาดคุ้งวิมานช่วงเหนือและใต้ เป็นโขดหินเหมาะกับการตกปลามากกว่า
ด้วยเป้าหมายที่ไม่ใช่ทั้งตกปลาและเล่นน้ำ เราจึงขับรถผ่านกินลมชมวิวแบบช้าๆ บนเส้นทางที่คดเคี้ยวเลียบเลาะภูเขาและทะเล แม้ฟ้าวันนี้จะหม่นไปบ้าง แต่การปล่อยให้สายตาทอดยาวไปถึงปลายขอบฟ้า เปิดกระจกรับลมเย็น ๆ สูดกลิ่นอายทะเลจันท์ก็ทำให้สดชื่นขึ้นมาไม่น้อย และถ้าอยากจะเห็นเส้นทางที่ผ่านมาก็ต้องมาหยุดตรง จุดชมวิวเนินนางพญา บริเวณนี้มีจุดจอดจักรยานด้วย รถยนต์จึงควรระวัดระวังเป็นพิเศษ
กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'© BangkokBizNews กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'
เนินนางพญา เป็นเนินเขาเล็ก ๆ เหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับการชมทัศนียภาพของอ่าวคุ้งวิมาน และยังได้เห็นความสวยงามของถนนที่โค้งอ้อมแนวเขาเคียงข้างท้องทะเลอย่างลงตัว แต่ที่ถือเป็นสีสันของการท่องเที่ยวก็คือ "เลิฟล็อค" หรือการนำแม่กุญแจ 2 ลูกไปล็อคคู่กัน ตามความเชื่อที่เริ่มจากไหนไม่ทราบ แต่โด่งดังอย่างยิ่งจากซีรีส์เกาหลีที่บรรดาหนุ่มสาวต้องไปล็อคความรักกันที่โซลทาวเวอร์ และระบาดมาถึงเมืองไทย ด้วยความเชื่อว่าจะรักกันยืนยาวตลอดไป ซึ่งถ้าใครไม่ได้เตรียมมาที่จุดบริการนักท่องเที่ยวเขามีกุญแจไว้จำหน่ายด้วย
เก็บภาพจนพอใจ (แต่ไม่ได้คล้องกุญแจตามกระแส) รู้สึกว่าสมควรแก่เวลาจึงออกเดินทางต่อไปยัง อ่าวคุ้งกระเบน ชื่อที่คุ้นหูมานานแต่ยังไม่มีโอกาสไปเยือนสักครั้ง
บนถนนสายเดิม สองข้างทางเต็มไปด้วยเรื่องราว นักปั่นจักรยาน 3-4 คนออกแรงหมุนล้อไปตามถนน พวกเขาดูมีความสุขกับการละเลียดทิวทัศน์สองข้างทาง เก็บภาพมุมนั้นมุมนี้ เลยไปหน่อยเป็นหมู่บ้านชาวประมงบ้านหัวแหลม บรรยากาศดูเงียบ ๆ เป็นธรรมชาติ เสียดายที่เราไม่มีเวลามากนักจึงไม่ได้ไปทักทายชาวประมงผู้สืบทอดวิถีดั้งเดิม ได้แต่ยิ้มให้กับความเรียบง่ายที่ยังหลงเหลืออยู่ และภาวนาว่าเส้นทางนี้จะไม่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาให้จนเกินงาม
ไม่นานเราก็มาถึงอ่าวคุ้งกระเบน ที่นี่เป็นที่ตั้งของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนและสัตว์น้ำนานาชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบริเวณนี้ และถ้าพอมีเวลาหรือที่ถูกคือ ควรใช้เวลาสัก 30-45 นาที เพื่อหาความรู้บนสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เส้นทางนี้ยาวประมาณ 1,600 เมตร มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติเป็นระยะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจว่าไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันอย่างไร มีประโยชน์กับเราอย่างไร เช่น ลำพูทะเล ที่งอกได้ดีในดินปนทรายจะเป็นผู้สะสมดินเลนทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ไม้อื่นได้งอกงามและก่อประโยชน์เป็นทอดๆ ต่อกันไป นอกจากนี้่ที่นี่ยังเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบด้วย
ไหนๆ ก็ชมนกชมไม้แล้ว ชมปลาทะเลอีกสักอย่างจะได้ครบถ้วน ในบริเวณเดียวกันเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็มที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน เช่น ปลาเก๋า ปลากระพง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร- วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.
ว่ากันว่าเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เผลอแป๊บเดียวดวงตะวันที่หลบเมฆเมื่อบ่ายก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก เรายังคงใช้เส้นทางเดิมเดินทางต่อไปยัง หาดเจ้าหลาว แหล่งที่พักที่มีให้เลือกมากมาย ตั้งแต่หรูหราห้าดาวไปจนถึงเรียบง่ายในราคาเอื้อมถึง
แม้ตลอดระยะทางหลายกิโลของหาดเจ้าหลาวจะเต็มไปด้วยโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าท์ แต่ยามเย็นอย่างนี้ เมื่อเดินลงไปถึงชายหาดยังพอมีมุมสงบๆ ให้ได้นั่งมองคลื่นซัดเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า พื้นทรายขาวนวลทอดยาวสุดสายตาประดับประดาด้วยต้นมะพร้าวที่เอนเอียงไปตามลม คือมุมมองสวย ๆ ที่ต้องบันทึกไว้ในความทรงจำ
จากจุดนี้ ถนนเฉลิมบูรพาชลทิตยังเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น วัดตะกาดเง้า, อ่าวยาง, อ่าวกระทิง, ปากน้ำแหลมสิงห์, ตึกแดง, คุกขี้ไก่, ฟาร์มปลาโลมาโอเอซิสซีเวิล์ด, เกาะเปริด โดยที่อำเภอแหลมสิงห์ นอกจากจะมีที่พักแล้ว ยังมีเรือท้องกระจกและเรือเร็วบริการนำนักท่องเที่ยวไปชมแนวปะการังน้ำตื้น เพียงแต่ต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม นั่นคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม แต่ช่วงที่เราไปเป็นฤดูฝน กิจกรรมนี้จึงต้องขอ'ผ่าน'ไปอย่างน่าเสียดาย
กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'© BangkokBizNews กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'
อีกแห่งหนึ่งที่คนรักการถ่ายรูปไม่ควรพลาด ก็คือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ (ปากนำแขมหนู) ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จุดนี้เป็นสะพานเชื่อมข้ามทะเลระยะทางประมาณ 500 เมตร สามารถมองเห็นทั้งทะเล ภูเขาและวิถีชาวประมง ใกล้ๆ กันมีท่าเทียบเรือขนาดเล็ก ตอนเย็นจะเห็นเรือประมงออกหาปลา ถ้าใครอยากลิ้มชิมอาหารทะเลสด ๆ สามารถเลือกซื้อจากชาวประมงที่นำมาขายด้วยตัวเอง ส่วนคนที่อยากพักผ่อน ลองหาที่พักเหมาะ ๆ ริมทะเลจันท์ รับรองคืนนั้นคุณจะหลับฝันดี
จากกรุงเทพฯ ถึงจันทบุรี ระยะทางไม่มากไม่น้อยกว่า 200 กิโลเมตร ไหนๆ ก็มาถึงเมืองเก่าอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี จะไม่เที่ยวชมบ้านเมืองโบราณสถานก็คงเสียเที่ยว
ย้อนประวัติกันสักนิด จันทบุรีเริ่มตั้งเมืองครั้งแรกที่บริเวณหน้าเขาสระบาปโดยชนชาวขอม ต่อมาได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เมื่อปีพ.ศ. 2200 และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เข้ายึดเมืองจันทบุรี เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพล เพื่อใช้ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ย้ายเมือง ไปตั้งที่บ้านเนินวงซึ่งอยู่ในที่สูงเพื่อเป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกรานของญวณ แต่เนื่องจากห่างไกลจากแหล่งน้ำ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงย้ายเมืองจันทบุรีกลับมาตั้งที่บ้านลุ่มตามเดิมตราบจนทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเมืองจันทบุรีกลับคืนมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุนี้หากต้องการซึมซับประวัติศาสตร์ของเมืองจันท์ แหล่งโบราณคดีค่ายเนินวง จึงอยู่ในลิสต์ที่ต้องไป และเมื่อชมค่ายเนินวงแล้วก็ต้องมาชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการเดินเรือมาอย่างยาวนาน ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ที่ถูกค้นพบใต้ท้องทะเลจะถูกนำมารวบรวมไว้ที่นี่
กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'© BangkokBizNews กินลมชมวิว 'เฉลิมบูรพาชลทิต'
ทว่าถ้าถามถึงสถาปัตยกรรมที่มีโดดเด่นของเมือง โบสถ์คาทอลิก จันทบุรี หรือ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล คือโบสถ์ในศาสนาคริสต์ที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศไทย
โบสถ์นี้ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ถนนสันติสุข ตำบลจันทนิมิตร มีประวัติการก่อสร้างยาวนานถึง 275 ปี ครั้งแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2254 บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี โดยคุณพ่อเฮิ้ตโตแลนติโนและบรรดาคาทอลิกชาวญวน จนถึงปี พ.ศ. 2377 ได้มีการย้ายมาสร้างบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรีอันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน โดยมิได้มีการบันทึกถึงสาเหตุของการย้ายแต่ประการใด และในปี พ.ศ.2446 ได้ก่อสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันขึ้นให้มีขนาดใหญ่กว่าหลังเก่าเพื่อรองรับจำนวนคริสตศาสนิกชนที่เพิ่มมากขึ้น
ตัวโบสถ์งดงามด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค หากประสงค์จะเข้าไปด้านใน ข้อควรปฏิบัติคือต้องแต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก เมื่อผ่านเข้าไปจะเห็นเป็นอาคารโถงโล่ง มีทางเดินเป็นชั้นลอยอยู่ทั้งสองข้าง ช่องแสงอาคารประดับตกแต่งด้วยกระจกสี (Stainglass) รูปนักบุญต่างๆ ดูงดงามขรึมขลังสมกับเป็นโบสถ์คาทอลิกขนาดใหญ่ที่มีความเก่าแก่และเป็นที่มั่นแห่งศรัทธาของคริสตศาสนิกชนที่นี่
แม้จะเป็นทริปสั้น ๆ ที่ต้องหลบฝนเป็นระยะ แต่ด้วยความงามจากร่องรอยอดีตและเส้นทางที่สร้างสรรค์ขึ้นในปัจจุบัน จันทบุรีก็สร้างความประทับใจได้ไม่แพ้ที่ไหน
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ถ้าสะดวกขับรถยนต์ไปเองสามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ 1. ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) และทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 98 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ผ่านอำเภอบ้านบึง อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปอีกประมาณ 58 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 266 กิโลเมตร
2.ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ไปจนถึงเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 90 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 36 อีกประมาณ 50 กิโลเมตร จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ต่อไปอีกประมาณ 108 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางประมาณ 248 กิโลเมตร
3. ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ไปจนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ผ่านอำเภอบ้านบึง อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากนั้นแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อไปอีกประมาณ 58 กิโลเมตร จนถึงจังหวัดจันทบุรี
ข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (ระยอง จันทบุรี) โทร 0 3865 5420-1, 0 38664585

แสดงความคิดเห็น

 
Top