บางครั้งเราก็แยกไม่ออกว่าอะไรคือ "ความจำเป็น" หรือ "ความต้องการ" ทั้งสองสิ่งดูมีนัยในการมีอยู่ที่ต่างกัน "จำเป็น" คือต้องมี ส่วน "ต้องการ" อาจไม่ต้องมีก็ได้ หลายคนสามารถแบ่งแยกทั้งสองสิ่งออกจากกันได้ดี ทำให้มีการลำดับความสำคัญที่เหมาะสมกับชีวิต พูดไปก็เหมือนการมีบ้านสักหลังหนึ่งที่ส่วนใหญ่ความต้องการมักมาก่อนความจำเป็น ... เมื่อได้มาเยือนบ้านหลังนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา



เจ้าของบ้านคือ คุณมาศถวิน ชาญวีรกูล สถาปนิกคือ คุณสรายุทธ์ ฝูงวรรณลักษณ์ ทั้งสองได้พูดคุยและมีการซักถามถึงแนวการใช้ชีวิต เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ ไม่มีการยัดเยียดเรื่องสไตล์หรือความชอบส่วนตัวแต่อย่างใด ทว่าให้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบว่าบ้านควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยมากที่สุด



สถาปนิกตีโจทย์ออกมาว่าเจ้าของบ้านต้องการบ้านที่สร้างเพิ่มในพื้นที่ของบ้านเดิมอยู่แล้ว บ้านหลังอื่นๆก็เป็นของพ่อแม่และญาติๆ บ้านหลังนี้จึงต้องการความเฉพาะตัวพอสมควร อีกทั้งในการพูดคุยและทำความรู้จักเจ้าของบ้าน ก็ได้ทราบว่าเขาต้องการให้บ้านนี้แตกต่างจากบ้านทั่วไป นอกจากนี้เจ้าของบ้านยังรักครอบครัว เขาต้องการให้ภรรยาและลูกอีก 2 คนได้อยู่ในบ้านหลังนี้อย่างมีความสุขและอบอุ่น จึงนึกถึงคำว่า "รักนก" (The Nest) ที่ให้อารมณ์ถึงความอบอุ่น ความรัก การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน แนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นบ้านสวยที่น่าอยู่และแฝงด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลังนี้เริ่มจากความจำเป็นที่จะต้องมีบ้านอีกหลังเพื่อครอบครัว อันจะนำมาซึ่งความรักในบ้าน จากนั้นก็มาดูที่ความต้องการว่าอยากให้บ้านนั้นเป็นอย่างไร เพื่อผสมผสานให้เกิดความกลมกล่อม ความต้องการที่อยากให้บ้านน่าอยู่อาจแลกมาด้วยการลงทุน แต่เพื่อความรักที่จะดำรงอยู่ บ้านหลังนี้จึงถือกำเนิดขึ้นแนวคิดบ้าน "รักนก" (The Nest) คือบ้านที่สร้างจากความรักในครอบครัว สื่อสารผ่านงานสถาปัตยกรรมที่มีการก่อตัวและเกาะเกี่ยวกับรูปทรงที่คล้ายรังนก มีการสัญจรภายในบ้านที่เพิ่มปฏิสัมพันธ์ได้ดี แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวอยู่ จะเห็นได้จากบริเวณชานพักบันไดซึ่งยื่นลอยอยู่กลางสระว่ายน้ำเปรียบเสมือนรังนกที่เป็นหัวใจของบ้าน ตำแหน่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนที่มองเห็นทุกคนในบ้านว่าอยู่ ณ จุดใดบ้าง ไม่ว่าจะเดินเส้นทางไหนก็ต้องผ่านส่วนที่เป็นรังนกนี้



สำหรับการตกแต่งภายในก็นำลวดลายของกิ่งไม้และงานสานที่คล้ายรังนกมาใช้ เพื่อส่งเสริมกับแนวคิดหลักด้วย ดังจะเห็นได้จากบริเวณหัวเตียงที่นำโลหะมาสานกัน การตกแต่งผนังประดับหรือผนังบังตาด้วยเส้นสายคล้ายกิ่งไม้ รวมถึงการเลือกของตกแต่งบ้านอย่างโคมไฟที่ใช้หวายมาสานถักทอ เป็นต้นบ้านหลังนี้ยังคิดมาเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตั้งแต่การเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก เพราะเหล็กมีคุณสมบัติแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน เมื่อต้องการจะรื้อถอนก็ยังสามารถนำไปขายเพื่อหลอมและขึ้นรูปเป็นเหล็กได้อีกครั้ง เป็นการช่วยลดขยะ อีกทั้งเหล็กยังขายได้ราคาดีด้วย ส่วนเรื่องการระบายอากาศ สถาปนิกคิดถึงการเปิดรับลมได้อย่างสะดวกสบาย ทุกห้องในบ้านจึงเปิดรับลมธรรมชาติได้เท่าเทียมกัน



การป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญ อย่างหลังคาก็ออกแบบให้มีสองชั้น ระยะห่างระหว่างหลังคาทำให้เกิดมวลอากาศซึ่งจะเป็นฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี ส่วนกระจกเลือกใช้ Insulation Glass เพื่อลดความร้อนของแสงแดดที่เข้าสู่ตัวบ้าน รวมถึงระยะจากพื้นถึงฝ้าของห้องก็มีความสูงมากกว่าปกติ ทำให้อากาศร้อนลอยสูงขึ้น ผู้อาศัยจึงรู้สึกสบาย นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้สระว่ายน้ำ เมื่อมีลมพัดก็จะพาไอเย็นเข้าสู่ตัวบ้าน



พื้นที่สวนรอบบ้านก็ช่วยให้บ้านนี้ดูไม่แห้งแล้ง คุณสรรเสริญ เกียรติสุไพบูลย์ ผู้ออกแบบจาก Linex Design and Consultants ได้ใช้แนวคิดหลักคือให้ต้นไม้นำความเย็นสู่ตัวบ้าน กล่าวคือไม่สูงบังลม ดูแลง่าย และส่งเสริมให้ตัวบ้านน่าสนใจขึ้น แม้มองผ่านๆบ้านหลังนี้จะดูแปลกตา แต่เมื่อมองลงไปถึงรายละเอียดและการอยู่อาศัยจริงแล้ว บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความตั้งใจและผลที่ได้คือความสวยงามลงตัว



"ขณะที่มนุษย์ต้องการบ้านเพื่อการดำเนินชีวิต หัวใจก็ต้องการความรักในการดำรงอยู่เช่นกัน" ผมคิดในใจว่าบางครั้ง "ความต้องการ" อาจมีความสำคัญพอกับ "ความจำเป็น" ก็ได้

ข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่นี่
The Nest House
®Amarin Printing and Publishing PCL®

แสดงความคิดเห็น

 
Top