
เพื่อนฝูงของเราหลายคนมักจะมาเล่าให้ฟังถึงความประทับใจหลังจากที่ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนตามโครงการต่างๆ ทั้งๆ ที่ก่อนจะไป หลายคนบ่นกันเรื่องความร้อนความเลอะจะทำให้ผิวดำเปรอะมอมแมม แต่เมื่อกลับมาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟัง ส่วนใหญ่จะบอกตรงกันว่า ต้องหาโอกาสและเวลากลับไปอนุรักษ์ป่าชายเลนอีกหลายๆ ครั้ง เพราะนอกจากประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ แล้วยังได้ช่วยกันต่ออายุผืนป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์จากกิจกรรมที่ให้ทั้งความสนุกและประสบการณ์ที่ทุกๆ คนต่างบอกว่า “ยากจะลืมลงจริงๆ”
ป่าชายเลนที่เราอยากจะให้ต่อใครไปสัมผัสกันในครั้งนี้ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางไปมาสะดวกง่ายดาย ทั้งยังใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่อึดใจ แต่ก็ได้กลิ่นอายของป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามระบบนิเวศครบถ้วน เรากำลังหมายถึง ป่าชายเลนคลองโคน ที่อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน จ.สมุทรสงคราม ที่ปัจจุบันเขามีชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลนเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานด้านกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วย
ป่าชายเลนคลองโคน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่ผสมผสานทั้งธรรมชาติของป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์กับวิถีชีวิตชาวพื้นบ้านที่ยังคงประกอบอาชีพประมงสืบเนื่องกันมาแล้วหลายรุ่น โดยเฉพาะการทำอาชีพเลี้ยงหอยอย่างหอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง เป็นอาชีพหลัก รวมถึงการทำเคอยหรือกะปิ และที่น่ารักก็คือคู่อริของกะปิอย่าง ลิงแสม ที่สร้างครอบครัวเฝ้าป่าชายเลนคลองโคนนับเป็นจำนวนพันๆ ตัว เป็นภาพที่สะท้อนว่า ทุกๆ วงจรต่างเกื้อกูลกันรวมถึงหล่อเลี้ยงชีวิตป่าชายเลนให้ยังคงอยู่ หลังจากที่ครั้งหนึ่งป่าชายเลนคลองโคนเคยเกือบจะถูกทำลายมาแล้วเนื่องจากถูกบุกรุกทำลายเพื่อทำนากุ้งและทำประโยชน์ด้านอื่นๆ จนสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล อาชีพประมงของชาวบ้านที่เคยสร้างรายได้ ก็พลอยต้องล้มเลิกตามไปด้วย เมื่อรายได้จากการประมงหายไป ชาวบ้านก็ต้องพากันออกไปหางานทำนอกพื้นที่ ส่งผลให้ป่าชายเลนคลองโคนขาดการฟื้นฟูดูแลและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาไปด้วย จนกระทั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาปลูกป่าชายเลนคลองโคนด้วยพระองค์เองครั้งแรกเมื่อปี 2540 และยังทรงเสด็จมาปลูกป่าชายเลนอีกหลายๆ ครั้งในปีต่อๆ มา จนเป็นที่มาของ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน และจวบจนถึงปัจจุบัน ป่าชายเลนคลองโคนก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่เคยละทิ้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพในต่างถิ่นก็กลับมาทำประมงตามเดิม สร้างรายได้และสร้างสมดุลทางนิเวศวิทยาคืนสู่ป่าชายเลนแห่งนี้อีกครั้ง

เราออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า มุ่งหน้าไปยังจ.สมุทรสงครามสู่จุดหมายปลายทางป่าชายเลนคลองโคน คำนวณระยะทางแล้วเพียงแค่ 72 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ถึงเราจะทำเวลาได้ดีที่กะไว้ว่าต้องมาถึงคลองโคนช่วงสายๆ แต่ด้วยอากาศเดือนมีนาคมแบบนี้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอแสงแดดแผดเผาเข้ากลางหัวตั้งแต่ยังไม่เที่ยง แน่นอนว่าพวกเรารู้เป้าหมายและกิจกรรมที่จะต้องทำกันในทริปนี้จึงไม่มีใครห่วงสวย ห่วงหล่อ และห่วงเลอะ! ทุกคนจึงจัดเต็มแบบพร้อมลุยทะเลโคลนกันมาจากบ้าน หลังจากซักซ้อมทำความเข้าใจเรื่องการปลูกป่าชายเลนกับทางเจ้าหน้าที่ฯ แล้ว เราก็ไม่รอช้า คว้าไม้กระดานลงไปบึ๊ดจำบึ๊ด (โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และอาสาสมัครคอยช่วยดันช่วยเข็นไม้กระดานให้) พร้อมด้วยกล้าไม้ของต้น “ลำพู” ซึ่งเป็นพืชหลักชนิดเดียวที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าชายเลนคลองโคน ใครคนหนึ่งถามขึ้นมาอย่างน่าสนใจว่าทำไมถึงไม่ปลูกต้นโกงกางเหมือนที่อื่นๆ ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ลงโกงกางทีไรก็ตายหมด จึงต้องยืนพื้นที่ต้นลำพูมาจนทุกวันนี้

เห็นมั้ยล่ะว่า ต้นลำพูในเชิงอนุรักษ์นิเวศวิทยาก็มีคุณค่าล้นเหลือ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร่มเงาให้อังศุมาลินและโกโบริได้พักพิงอิงแอบพลอดรักกัน….ว่าเข้าไปนั่นเลยทีเดียว
เสร็จจากลงต้นกล้าลำพู ใครใคร่อยากออกไปผจญภัยต่อ ก็ขอให้เริ่มจากการนั่งเรือหางยาวเข้าป่าไปให้อาหารลิงแสม เพราะจากจุดนี้ก็จะเป็นจุดที่เขาให้นักท่องเที่ยวได้ออกกำลังกับกิจกรรมแนวแอดเวนเจอร์ที่สนุกเว่อร์ๆ อย่างสกีน้ำ หรืออยากจะลงว่ายน้ำดับร้อนก็ไม่มีปัญหา
แต่ใครที่ไม่ปรารถนาจะออกกำลังแนวผจญภัยแต่อยากใกล้ชิดกับวิถีชาวประมงคลองโคน ก็ลองใช้เวลาเพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านคลองโคนที่ทำประมงด้วยการเลี้ยงหอยเป็นหลัก พอสายๆ น้ำขึ้น ที่พักเฝ้าหอยน้อยใหญ่หลายหลังที่เรียกกันว่า “กระเตง” ก็จะเปลี่ยนเป็นเรือนรับรองนักท่องเที่ยว บริการอาหารมื้อเที่ยงที่อิ่มอร่อยและเรียบง่าย ได้บรรยากาศสงบสบาย แถมบางหลังยังเปิดให้เป็นที่พักค้างคืนสำหรับใครที่ติดใจในบรรยากาศจนไม่อยากกลับออกไปเจอกับความวุ่นวายในเมือง
แต่ใครที่ไม่ปรารถนาจะออกกำลังแนวผจญภัยแต่อยากใกล้ชิดกับวิถีชาวประมงคลองโคน ก็ลองใช้เวลาเพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านคลองโคนที่ทำประมงด้วยการเลี้ยงหอยเป็นหลัก พอสายๆ น้ำขึ้น ที่พักเฝ้าหอยน้อยใหญ่หลายหลังที่เรียกกันว่า “กระเตง” ก็จะเปลี่ยนเป็นเรือนรับรองนักท่องเที่ยว บริการอาหารมื้อเที่ยงที่อิ่มอร่อยและเรียบง่าย ได้บรรยากาศสงบสบาย แถมบางหลังยังเปิดให้เป็นที่พักค้างคืนสำหรับใครที่ติดใจในบรรยากาศจนไม่อยากกลับออกไปเจอกับความวุ่นวายในเมือง
ลองมาเปลี่ยนวันหยุดสุดสัปดาห์ให้เป็นวันหยุดสุดสำราญใจ กับธรรมชาติบริสุทธิ์แท้ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากกทม. ออกจากเส้นทางพระราม 2-แม่กลอง เลยสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองเพียงเล็กน้อย ถึงปั๊มปตท.จะเจอกับป้ายบอกทางแล้วเลี้ยวซ้ายตามเข้าไป จะยกโขยงกับเพื่อนมากันเป็นแก๊งใหญ่ๆ หรือจะมาแบบครอบครัวปลูกฝังจิตสำนึกรักธรรมชาติก็สนุกสนานได้ไม่ต่างกัน หรือหากใครยังมีเวลาเหลือหรือต้องการค้างคืน ที่สมุทรสงครามก็ยังมีตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำท่าคา และแหล่งท่องเที่ยวอันมีคุณค่าที่เราอาจนึกไม่ถึง ก่อนจะตบท้ายด้วยของฝากขึ้นชื่อ “ปลาทูแม่กลอง” หรือสารพันอาหารทะเลที่มีไว้ให้ซื้อหากลับบ้าน
ก็ถือว่าตอบโจทย์ครบครันของการท่องเที่ยว ในเมืองเดียว “สมุทรสงคราม” แห่งนี้
แสดงความคิดเห็น
Click to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.