พนักงานในอุดมคติที่เรามักพูดกันเล่นๆ (แต่บางคนอาจจะคิดจริง) ก็คงจะเป็นประเภทแบบอึด ทึก ทน ทุ่มเทให้กับงานชนิดต่อให้ป่วยก็ลากสังขารมาทำงานให้ได้ ป่วยแค่ไหนก็จะอัดยาเพื่อให้งานเสร็จแล้วก็จะได้รับรางวัลหรือการประกาศกิติ คุณในท้ายที่สุด ซึ่งก็มักเป็นภาพฝันที่เราเห็นบ่อยๆ จากบรรดาหนังหรือละครอยู่บ่อยๆ
แต่ในความจริงมันคนละเรื่องแหละครับ เพราะคุณคงไม่ใช่พระเอกหรือนางเอกที่สู้ยิบตาโดยเอาชนะความป่วยได้และตอน ท้ายบริษัทจะให้รางวัลเกียรติยศกับคุณแต่อย่างใด แต่พอคุณฝืนสังขารต้านความป่วยมาทำงานแล้ว นอกจากจะเหนื่อยและทรมานแล้ว งานก็ยังไม่ดี แถมที่คุณทำไปก็อาจจะไม่ได้รับความชื่นชมอะไรสักเท่าไรด้วยเพราะคนไปสนใจงาน มากกว่าจะสนใจคุณแทนเสียอีกต่างหาก
ผมมักพูดขำๆ ว่าโลกของละครมันทำให้เรามักคิดกันแบบอุดมคติว่าเราต้องทุ่มเท ต้องเป็นคนดี ซึ่งนั่นคือการทำงานประเภท 100% แบบไม่ยอมละทิ้งความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งงาน และตอนท้ายเราก็จะประสบความสำเร็จกัน แต่นั่นก็เป็นมายาคติที่เราสร้างขึ้นมาเพราะความจริงแล้วอาการป่วยที่เกิด ขึ้นนั้นมันส่งผลมากกว่าที่หลายๆ คนคิดซึ่งบรรดานิยายต่างๆ ไม่ได้ระบุเอาไว้
ที่แน่ๆ คือ พอคุณป่วยแล้ว ร่างกายของคุณก็จะมีพลังงานลดลง ซึ่งทำให้อัตราความเร็วและประสิทธิภาพในการทำงานของคุณลดตามไปด้วย และเมื่อคุณอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมแล้ว ภาวะการตัดสินใจและใช้สติปัญญาของคุณก็จะรวนตามไปอีกต่างหาก มันเลยไม่แปลกว่างานที่คุณพยายามเข็นออกมาในช่วงที่ป่วยนั้น มันไม่ค่อยจะเป็นงานที่ได้คุณภาพสักเท่าไร หรือไม่มันก็ดีกว่านั้นได้เยอะพอสมควร
ทีนี้พอเรามามองในแง่ว่าป่วยแล้วยังต้องทำงานต่อไปเนื่องจากเป็นการแสดง ความรับผิดชอบต่องาน ไม่ละทิ้งงานนั้น ผมกลับรู้สึกว่าเอาจริงๆ คนเราไม่ได้ตัดสินสองอย่างนั้นด้วยการมองว่าคนเราบ้าบิ่นทำงานในช่วงป่วยแต่ อย่างใด แต่เราตัดสินจากการทำงานตลอดมาของแต่ละคน สังเกตได้ว่าบางคนนั้นพอป่วยแล้วทำงาน เราก็จะรู้สึกแบบ “เฮ้ย ยังทำงานอยู่อีก ไปพักได้แล้ว” มันเป็นความเห็นใจเพราะเรารู้สึกว่าบางคนทุ่มเทอย่างเต็มที่มาตลอด ถ้าเขาจะได้สิทธิพักป่วยบ้างก็โอเคแหละน่า แต่กลับบางคนที่ป่วยแล้วทำงาน หรือลาป่วย เราก็กลับจะรู้สึกเฉยๆ หรือบางทีก็มองว่าสำออยเลยก็มี ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้เขาทำงงานในแบบที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกประทับใจหรือ เชื่อใจแต่อย่างใด ฉะนั้นแล้ว ถ้าคุณคิดว่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนอื่นด้วยการตะบี้ตะบันทำงานช่วงที่ ร่างกายคุณไม่พร้อมเนี่ย มันอาจจะไม่ได้สร้างภาพของ “สปิริต” หรือความประทับใจอย่างที่คุณคิดก็ได้
พูดมาเนี่ย ก็ใช่ว่าผมจะไม่เคยทำแบบที่เล่ามาหรอกนะครับ เอาเข้าจริงๆ ผมกลับเป็นพวกที่ทำงานช่วงป่วยบ่อยพอสมควร (ด้วยนิสัยบ้างานเป็นส่วนตัวด้วย) จนทำให้หลายๆ คนบ่นบ่อยๆ และนั่นก็ทำให้ผมคิดว่าพอเป็นแบบนั้นแล้ว สิ่งที่สะท้อนกลับมาจะไม่ใช่ความประทับใจหรือความเห็นอกเห็นใจ แต่มันกลายเป็นความกังวลหรือสร้างทัศนคติลบๆ ต่อบริษัทหรือต่อหัวหน้างานเอาได้เหมือนกัน ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าแฟนเราบ้าทำงานขณะที่ไข้ขึ้นนอนซม เราก็คงอดบ่นไม่ได้ว่าบริษัทนี้บ้าอะไร ใช้คนยังกับทาสเป็นแน่
ผมมาเรียนรู้ภายหลังว่า ถ้าเราป่วยหรือร่างกายไม่พร้อมนั้น สิ่งที่เราควรทำคือการดูแลและรักษาร่างกายให้ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด ซึ่งนั่นก็คือการพักผ่อนและรับการรักษา หากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ คุณก็ไม่ควรจะฝืนร่างกายให้ลุกมาทำงานแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว หัวหน้าหรือที่ทำงานคุณก็จะหาทางออกได้เองว่าถ้าไม่มีคุณแล้วงานจะเดินหน้า ไปได้อย่างไรบ้าง (และถ้าพวกเขาแก้ปัญหาไม่ได้ ก็แสดงว่าบริษัทของคุณมีปัญหาอย่างหนักแล้วล่ะครับ)
ฉะนั้นแล้ว ถ้าคุณป่วย สิ่งที่คุณควรทำไม่ใช่การลุกมาเคลียร์งานให้เสร็จ แต่คือการแจ้งและให้ “ทีม” ของคุณช่วยดูแล จากนั้นก็รีบพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายกลับมา 100% และทำงานต่อไปได้ ยิ่งถ้าคุณป่วยหนักๆ ประเภทหมอบอกให้แอดมิทแล้ว เชื่อเถอะครับว่าการนอนโรงพยาบาลในบางครั้งก็ช่วยให้คุณฟื้นคืนสภาพร่างกาย ได้เร็วกว่าการที่คุณทนฝืนทำเท่ห์แบบร่างมาออฟฟิศแล้วนอนซมตรงโต๊ะทำงาน (แถมจะทำให้คนรอบข้างคุณรู้สึกแย่ไปเสียอีกต่างหาก)
หนึ่งในเคล็ดสำคัญของการทำงานที่ผมมักจะถือ คือการทำให้ร่างกายเราพร้อมกับการทำงานอยู่เสมอ และจะเลี่ยงการทำงานในช่วงที่ร่างกายไม่พร้อมเว้นเสียแต่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
และคงต้องฝากคำพูดที่พี่คนหนึ่งเคยบอกผมไว้นานแล้วว่า ต่อให้เราเล่นบทพระเอกและทำงานเป็นบ้าเป็นหลังแค่ไหน บริษัทก็ไม่ได้จะสร้างอนุเสาวรีย์ให้คุณหรอกฮะ ^^

แสดงความคิดเห็น

 
Top