© สนับสนุนโดย Matichon
กรณีของความสงสัยที่ว่าการก่อสร้างในโครงการอุทยานราชภักดิ์ "อาจ" จะมีการทุจริต เบียดบังผลประโยชน์ กำลังกลายเป็น "กรณีตัวอย่าง"
ทั้งในทาง "ฟิสิกส์" และในทาง "การเมือง"
ความเข้าใจที่ว่ากรณีอุทยานราชภักดิ์กำลังกลายเป็นเรื่องทาง "การเมือง" อาจไม่ซับซ้อน สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
แต่ที่ว่าเป็นเรื่องในทาง "ฟิสิกส์" ต่อกรณีอุทยานราชภักดิ์ยังไม่กระจ่างขอให้ศึกษาจากความพยายามที่จะ "หยุด"
ไม่ว่าจะหยุดโดย "คณะกรรมการ" ดำเนินการ "ตรวจสอบ"
ไม่ว่าจะหยุดโดยการจัดส่งเจ้าหน้าที่ "ทหาร" ไปเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณบ้านของบุคคลบางคน ไม่ว่าจะหยุดโดยการ "อุ้ม" บุคคลบางคนจากหน้าตลาดมหาชัยเมืองใหม่ไปยังกองพลทหารราบที่ 9 
ถามว่า "หยุด" ได้ไหม
เป็นความจริงที่ว่าการตั้ง "คณะกรรมการ" อาจดูดี การส่ง "ทหาร" ไปเฝ้าระวังอาจแสดงลักษณะ "อะเลิร์ต" หรือการเปิดยุทธการ "อุ้ม" อาจประกาศเจตนารมณ์อย่างแจ้งชัดในการคุกคาม ตรงไปตรงมา
แล้ว "ความเป็นจริง" ยืนยันอย่างเป็น "รูปธรรม" ว่าหยุดได้หรือไม่
ปฏิกิริยาอันปรากฏและสะท้อนผ่านหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หรือพาดหัวทุกรายการข่าวโทรทัศน์ทุกช่องน่าจะยืนยันได้
ยืนยันได้ว่า "ไม่เวิร์ก"
แทนที่คนลงมือ "ปฏิบัติการ" จะดำรงอยู่ในฐานะ "พระเอก" มากด้วยคุณูปการ กลับถูกตั้งข้อสงสัยด้วยน้ำเสียงคลางแคลง กังขา
ทำท่าว่าจะกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่านั้น ตัวละครอันเป็น "เป้าหมาย" ก็มิได้บังเกิดสภาพอย่างที่เรียกว่า หมอบราบคาบแก้ว งอก่อ งอขิง
ตรงกันข้าม กลับคึกคักยิ่งกว่า "ตำลึง" ต้องแดดยาม "สางสาย"
ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิดในเรื่องเดินทางไปเยือนอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นกระแส 1 ในทางสังคม
เห็นได้จากกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง"
เป็นเจ้าเก่าในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (เอ็นดีเอ็ม) ร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่เคยชู 3 นิ้วที่เคยนัดเพื่อน 2-3 คนร่วมกันกินแซนด์วิชประสานกับการนั่งอ่านนวนิยายเรื่อง 1984 อันแปลมาจากงานของท่าน ยอร์ช ออร์เวลล์
และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ จาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล
การตั้งข้อสังเกตของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล หัวขบวนแห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
เขายกคำ Responsibility กับ Accountability ขึ้นมา
กรณีราชภักดิ์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จากกระทรวงกลาโหม ให้เป็นหัวหน้าโครงการ
Responsibility ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร คือ ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ
แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด แน่นอนว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร มีความผิด แต่เหนืออื่นใด ผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายงานซึ่งอยู่เหนือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องมี Accountability คือร่วมรับผิดชอบด้วย
เหนือขึ้นไปกว่าคือ Accountability ในฐานะ คสช.
เพราะที่อยู่เหนือรัฐบาลคือ คสช. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก คสช.
เท่ากับแยกแยะระหว่าง "ความรับผิดชอบ" กับ "การร่วมรับผิดชอบ"
เท่ากับชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้ปฏิบัติ" กับ "ผู้บังคับบัญชา"
การออกมา "สังเคราะห์" และ "วิเคราะห์" ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เพิ่มความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
บทสรุปของเขาก็คือ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องรับผิดชอบในเรื่องจำนำข้าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องอุทยานราชภักดิ์
มิใช่เรื่องของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร แต่เพียงผู้เดียว