ไอเดีย′ราชทัณฑ์′ คุกน็อกดาวน์ ′คืนคนดีสู่สังคม′© มติชนออนไลน์ ไอเดีย′ราชทัณฑ์′ คุกน็อกดาวน์ ′คืนคนดีสู่สังคม′
ไอเดีย′ราชทัณฑ์′ คุกน็อกดาวน์ ′คืนคนดีสู่สังคม′
      "เรือนจำมีไว้ออกไม่ได้มีไว้เข้า" คำพูดนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสโลแกน หรือมอตโต้ใหม่ ประจำกรมราชทัณฑ์ เพราะเจ้ากระทรวงตาชั่งอย่าง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงคำนี้บ่อยครั้ง
     ดังนั้น ในปีนี้นโยบายคืนคนดีสู่สังคม เป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มภารภิจพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรม ที่กำลังขับเคลื่อนเป้าหมายเชิงรุกไปพร้อมๆกัน ทั้งกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุมประพฤติ
    "มติชน" เกาะติดการเตรียมความพร้อมของ "กรมราชทัณฑ์" พบว่า "เรือนจำโครงสร้างเบา" เป็นอีกแนวคิด ไอเดียใหม่ ที่กรมราชทัณฑ์ต้องการหาสถานที่รองรับ นำผู้ต้องขังที่มีความพร้อมออกไปสู่สังคม มาใช้ชีวิต ปรับตัวในเรือนจำ
ทั้งนี้ความพิเศษของเรือนจำลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
   นายวิทยาสุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายแนวคิดเรือนจำแห่งนี้อย่างน่าสนใจว่า กรมราชทัณฑ์ต้องการสร้างเรือนจำโครงสร้างเบา 17 แห่ง เพื่อรองรับระบบเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ต้องของบกลางจากรัฐบาลประมาณ 1,400 ล้านบาท ก่อนสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้นรูปแบบหรือวัสดุที่นำมาใช้นั้นทางฝ่ายวิศวกรของกรมราชทัณฑ์คิดว่า หากเป็นงานก่อสร้างเร็วๆ หรือแบบน็อกดาวน์ "คอนเทนเนอร์" น่าจะเอามาใช้ได้หรือไม่ เหมาะสมกับอุณหภูมิประเทศไทยหรือไม่ เวลาอยู่แล้วร้อนหรือไม่ เพราะติดเครื่องปรับอากาศ ก็คงไม่เหมาะสม
    "ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ หรือถ้าไม่ใช้คอนเทนเนอร์จะใช้วัสดุใด แบบไหน ที่เป็นโครงสร้างน็อกดาวน์ ตอนนี้ฝ่ายออกแบบโครงสร้างกำลังส่งแบบแปลนมาให้เลือกดู เพราะในต่างประเทศไม่มีต้นแบบพื้นที่เตรียมปล่อยเหมือนกับประเทศไทย ดังนั้นกรมราชทัณฑ์ ต้องคิดหาแนวทางนำมาใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย หากต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาต่อกันด้วยความสูง 2-3 ชั้น การก่อสร้างคล้ายกับค่ายทหารมีการทำรั้วลวดหนามล้อม แต่อาจไม่แน่นหนาเท่าเรือนจำถาวรปกติ" นายวิทยาเผย
   นายวิทยา  ยังบอกถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำนี้ ว่า ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งล่าสุด เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการแล้ว ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ได้คิดโปรแกรมต่างๆ ทั้งการพัฒนาอบรมด้านร่างกายและจิตใจ
    สอดล้องกับแนวคิดของ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่บอกว่านำแนวคิดเรื่องเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัวออกมาให้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมดำเนินการอยู่แล้ว แต่ทำในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมของเรือนจำเบาหรือที่จริงก็คือเรือนจำชั่วคราว เป็นการเตรียมตัวผู้ต้องขังจริง และไม่ใช่แค่การอบรมผู้ต้องขัง 60 วันเหมือนที่ผ่านมา
   "พล.อ.ไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้แนวคิดว่า การฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังต้องชัดเจน ไม่ใช่ฝึกเพื่อรอเวลาปล่อยตัว และต้องตอบสนองความต้องการของผู้ต้องขัง รายบุคคลให้ได้ เป็นหลักประกันแก่สังคมว่า ผู้ต้องขังที่ผ่านเรือนจำตรงนี้แล้ว ต้องไม่ทำผิดซ้ำและมีงานทำ กรมคุมประพฤติจะช่วยดูแลด้วย คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในการอบรม หากผู้ต้องขังยังไม่พร้อม ยังมีโครงการบ้านกึ่งวิถีมารองรับอีก เพื่อเป็นที่พักและเตรียมความพร้อมอีกรอบด้วย"
นายชาญเชาวน์ กล่าว และว่า มั่นใจว่ากลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องดูแลอย่างเข้มงวดมากเกินไป เป็นการให้โอกาส ดังนั้น ผู้ต้องขังทุกคนจะทราบดีว่าเมื่อได้มาอยู่ที่เรือนจำโครงสร้างเบาแล้ว พวกเขากำลังจะได้กลับบ้าน
     คาดว่าในปี 2559 จะได้ใช้เรือนจำดังกล่าว
     ขณะที่สัดส่วนของ เรือนจำโครงสร้างเบา นายวิทยากล่าวว่า จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย อาคารเรือนนอนผู้ต้องขัง 2 ชั้น จำนวน 3 หลัง สำหรับรองรับผู้ต้องขัง 500 คน เป็นโครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์ อาคารสูทกรรม และอาคารที่ทำการขนาดเล็ก 2 ชั้น โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ ในบริเวณเรือนจำโครงสร้างเบายังจัดให้มีบริเวณอาบน้ำและห้องสุขา และจัดให้มีบ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการฝึก หรือกรณีที่มีการให้เจ้าหน้าที่จากต่างพื้นที่มาปฏิบัติหน้าที่ ตั้งอยู่ภายนอกเรือนจำโครงสร้างเบา
     ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-6 เดือน งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท จำนวน 17 แห่ง กระจายอยู่ใน 4 ภาคคือ เหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้
    รองรับผู้ต้องขังประมาณ 9,000 คน สามารถระบายผู้ต้องขังได้ปีละ 27,000 คน
     ลิสต์รายชื่อเรือนจำที่จะก่อสร้างเรือนจำโครงสร้างเบา ประกอบด้วย ภาคเหนือ 1.ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น จ.นครสวรรค์ 2 เรือนจำชั่วคราวห้วยม้า (เรือนจำจังหวัดแพร่) 3.เรือนจำชั่วคราวร่องห้า (เรือนจำจังหวัดพะเยา) 4.เรือนจำชั่วคราวปงยางคก (ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง) 5.เรือนจำชั่วคราวแคน้อย (เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์) 6.เรือนจำชั่วคราวหนองเรียง (เรือนจำอำเภอสวรรคโลก) พื้นที่ภาคตะวันออก
      7.ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จ.ระยอง 8.ทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา จ.จันทบุรี 9.ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง จ.ปราจีนบุรี 2 แดน 10.เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว (เรือนจำกลางระยอง) โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จ.นครราชสีมา 12.เรือนจำชั่วคราวรอบเมือง (เรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด) 13.เรือนจำชั่วคราวโคกมะตูม (เรือนจำอำเภอนางรอง) 14.เรือนจำชั่วคราวโคกคำม่วง (เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์) ภาคใต้ 15.ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง จ.พัทลุง 16.เรือนจำชั่วคราวห้วยกลั้ง (เรือนจำอำเภอหลังสวน) และ 17.เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง (เรือนจำกลางเพชรบุรี)
    นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญในปี 2559 ของกรมราชทัณฑ์ กับโครงการคืนคนดีสู่สังคม
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 6 มกราคม 2559 หน้า 1